การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร สำหรับแนวทางของภาครัฐที่ผ่านมาคือการออกนโยบายและมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนต่างของรายได้หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่าย และมีผลกำไรเหลือพอสำหรับเป็นค่าครองชีพในครัวเรือน
ช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้ลดราคาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ค่าเช่าที่นา ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว โดยคาดหวังจะทำให้ต้นทุนของชาวนาโดยรวมลดลงจากเดิมที่ไร่ละ 4,787 บาท ลงเหลือไร่ละ 4,358 บาท และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศปรับลดราคากลางของปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูตรสำคัญ เช่น ราคาปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 ราคาลดลง 40 บาทต่อกระสอบ สูตร 16-20-0 ราคาลดลง 50 บาทต่อกระสอบ สูตร 16-16-16 ราคาลดลง 50 บาทต่อกระสอบ และสูตร 16-8-8 ราคาลดลง 50 บาทต่อกระสอบ เป็นต้น
ในขณะที่ผลการวิจัยโครงสร้างต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ปุ๋ยเคมีถือเป็นปัจจัยการผลิตหลักสำคัญที่มีผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว มีสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณร้อยละ 18 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ข้าวนาปรัง ร้อยละ 16 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 21 และปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 41 เป็นต้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556)
ปุ๋ยเคมีจึงเป็นต้นทุนการผลิตที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ของเกษตรกร และเกษตรกรไทยมีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่วัตถุดิบการผลิตปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลสถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญระหว่างปี 2551-2556 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ของกรมวิชาการเกษตร พบว่าปี 2552 มีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ปี 2556 มีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นถึง 5.6 ล้านตัน มูลค่า 7.2 หมื่นล้านบาท สัดส่วนปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 47
ธุรกิจปุ๋ยเคมีถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เนื่องจากการระบบจัดจำหน่ายที่ผูกขาดโดยผู้นำเข้าไม่กี่ราย และมีมูลค่าการตลาดและผลกำไรมหาศาลหลายหมื่นล้าน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการค้าปุ๋ยรายใหญ่เพียง 5 รายที่กินส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เอาไว้ ที่เหลือร้อยละ 10 เป็นของผู้ประกอบการรายเล็ก โดยส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจปุ๋ยเคมี อันดับหนึ่งคือบริษัท เจียไต๋ จำกัด (บริษัทในเครือข่ายของซีพี) ผู้ผลิตปุ๋ยตรากระต่าย มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 28 อันดับสองคือบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยตราหัววัว-คันไถ มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 25 อันดับสามคือบริษัทไอซีพี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยตราม้าบิน มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 15 อันดับสี่คือบริษัท ยารา(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยตรายารา มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12 และอันดับห้าคือบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด (บริษัทในเครือของเบียร์ช้าง) ผู้ผลิตปุ๋ยตรา "มงกุฎ" และปุ๋ยตรา "ทิพย์" ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 10
กลไกการตลาดปุ๋ยเคมีเป็นลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ราคาปุ๋ยเคมีชนิดเดียวกันจะอยู่ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน และช่องทางจำหน่ายจากผู้นำเข้าถึงมือเกษตรกรนั้นมีการกินหัวคิวกันอย่างซับซ้อน ซึ่งมีผลอย่างมากทำให้ราคาปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายให้กับเกษตรกรสูงกว่าราคานำเข้าในสัดส่วนที่สูงมาก ตัวอย่างเช่น ราคาปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 ที่มีการนำเข้าในปี 2556 มีราคานำเข้าประมาณตันละ 6,021 บาท หรือต้นทุนนำเข้าต่อกระสอบอยู่ที่ 301 บาท (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) แต่เมื่อถึงมือเกษตรกรราคาปุ๋ยเคมีที่ขายให้เกษตรกรจะอยู่ที่ตันละ 8,780 บาท หรือ กระสอบละ 439 บาท คือมีส่วนต่างสูงถึงร้อยละ 45 (คำนวณจากรายงานการสำรวจราคาปุ๋ยเคมีขายปลีก 6 จังหวัดภาคกลาง ระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค.2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 10)
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหากลไกราคาปุ๋ยเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะลดลงเสมอไป เพราะทัศนคติ ความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีของเกษตรกรคือส่วนที่สำคัญในการกำหนดว่าต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจะลดลงหรือไม่ ปัจจุบันปุ๋ยเคมีไม่เพียงส่งผลต่อวิถีการผลิตและวิถีชีวิตของเกษตรกร และทำลายคุณภาพดินเท่านั้น แต่เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเท่าเดิม ในทุกปีเกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีก็สูงขึ้นตามลำดับ ดังเป็นที่ปรากฏว่าประเทศต้องเสียดุลการค้าจากการนำเข้าปุ๋ยเคมีปีละหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรจ่ายไป ได้มีการบวกค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าโปรโมชั่น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมอยู่ในราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกที่เกษตรกรต้องแบกรับเอาไว้ในท้ายที่สุด
ทั้งนี้แนวทางลดต้นทุนการผลิตของรัฐที่ผ่านมา ได้พยายามแก้ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตให้มีความเป็นธรรม โดยใช้วิธีการละมุนละม่อมคือขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการธุรกิจปุ๋ยเคมี แต่ความเห็นของนักวิชาการบางส่วนมองว่าวิธีการนี้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะภาคธุรกิจไม่ใช่ภาคสังคมสงเคราะห์ แนวทางที่รัฐควรทำคือแทรกแซงและสร้างการแข่งขันในกลไกตลาด เช่น ภาครัฐอาจนำเข้าปุ๋ยเคมีมาบรรจุถุงแบ่งขายให้กับเกษตรกรเองในราคาถูก เมื่อเกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้นผู้ประกอบการก็จะลดราคาปุ๋ยเคมีลงในที่สุด ตัวอย่างเช่น ปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเข้าปุ๋ยเคมีเอง แม้จะพบกับปัญหาอิทธิพลมืดและการขัดขวางของกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการจำหน่ายปุ๋ยเคมี รวมทั้งเกิดการคอรัปชั่นจากกระบวนการจัดจำหน่ายปุ๋ยเคมีให้เกษตรกรก็ตาม
ภายใต้สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและผันผวนในปัจจุบัน หากโครงสร้างราคาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมียังไม่ถูกแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม คงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะอยู่รอดได้จากอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะหากเกษตรกรไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต จากเกษตรเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หรือปรับระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ในการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของดินและพืช มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ในไร่นาให้มากขึ้น รวมทั้งมีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานคือใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ส่วนหนึ่ง และยังเป็นการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อชีวิตของเกษตรกรและสังคมในระยะยาว
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 10 เมษายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.