การสั่งชะลอ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่มีการเตรียมการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา น่าจะสร้างความผิดหวังให้กับนักเศรษฐศาสตร์และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังหลายท่านที่ผลักดันเรื่องนี้มายาวนานหลายสิบปี
จะว่าไปเหตุผลที่สำคัญคือ คนไทยยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีทรัพย์สินในสังคมไทย หรือในต่างประเทศที่เขาดำเนินการจัดเก็บกันอยู่
ด้วยว่าภาษีที่คนไทยส่วนใหญ่จ่ายอยู่ประจำและบางส่วนมีความเห็นว่าจ่ายอยู่เพียงพอแล้ว คือภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินแลโรงเรือนที่มีอยู่ เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีเพียงเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่รู้จัก ส่วนใหญ่คือถ้าไม่เคยเสียภาษีด้านนี้ ก็จะไม่รู้จักภาษีเหล่านี้ว่ามีการจัดเก็บกันอย่างไร
อีกเหตุผลสำคัญคือรัฐบาลไม่ได้ยืนยันและพูดให้ชัดว่า ตกลงแล้วจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยเหตุผลใดเป็นหลักกันแน่ ระหว่างเหตุผลที่หนึ่ง คือการหารายได้เพื่อชดเชยงบประมาณ เพราะรัฐบาลกำลังถังแตกจากโครงการประชานิยมที่ผ่านมา หรือเหตุผลที่สอง เพราะต้องการให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีการจัดเก็บรายได้เป็นของตนเอง หรือเหตุผลที่สาม เพื่อผลักดันให้นำที่ดินที่ว่างเปล่าออกมาใช้ประโยชน์ ด้วยการเก็บอัตราภาษีที่ดินว่างเปล่าที่สูงกว่าอัตราภาษีที่ดินปกติ หรือเหตุผลที่สี่ เพื่อใช้ภาษีที่ดินนี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการการเงินการคลังเพื่อจัดระเบียบและกระจายรายได้คนในสังคม แถมรัฐบาลยังพูดไม่ค่อยชัดเสียอีกด้วยว่า ตกลง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปในสังคมไทยดีขึ้นอย่างไร นอกจากต้องมีภาระจ่ายภาษีค่าบ้านและที่ดินให้รัฐเพิ่มขึ้นแล้ว
หลักการสำคัญที่ควรถูกสื่อสารและยืนยันให้ชัด คือการเก็บภาษีที่ดินซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ถือเป็นการจัดระบบการเงินการคลังของรัฐบาลทุกประเทศที่ควรจะทำ (แต่รัฐบาลไทยในชุดที่ผ่านๆ มา ไม่ได้ทำเพราะเกรงว่าจะกระเทือนฐานคะแนนเสียงตัวเอง) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในการกระจายรายได้และกระจายทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม
ภาษีทรัพย์สิน มีการจัดเก็บในหลายประเทศ ถือว่าเป็นมาตรการทางการคลังที่รัฐบาลต้องใช้ เพื่อกระจายรายได้และความมั่งคั่ง จากคนที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินมากกว่าคนอื่น ไปช่วยเหลือคนที่มีศักยภาพน้อยกว่าและมีทรัพย์สินน้อยกว่า หากไม่มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเลย หมายความว่าคนทีมีฐานะร่ำรวยสามารถสะสมทรัพย์ โดยที่ไม่ต้องจ่ายคืนให้กับสังคมและสาธารณะ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรัพย์สินของเขามั่งคั่งขึ้นมา เสมือนว่าเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ใครหาได้มากก็สะสมมาก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่นในสังคม และไม่ต้องมีการจัดระเบียบการเงินการคลังหรือทรัพย์สินของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันแต่อย่างใด
ประเทศที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่ดีพออย่างประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการไม่เคยต้องจ่าย จึงอยู่ในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา และไม่ต้องจ่ายคืนให้กับรัฐบาลแต่อย่างใด คล้ายกับว่า ที่ร่ำรวย มีทรัพย์สินมาได้ ก็เป็นเพราะความสามารถส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสังคมและสาธารณะที่พวกเขาอาศัยอยู่
หลายคนมีความเห็นว่าเท่าที่จ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐบาล ก็เป็นเงินมากโขแล้ว รัฐบาลยังจะมารีดเค้นอะไรจากภาษีบ้านและที่ดินที่ผ่อนหามาได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงและความลำบากของคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว คล้ายว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลนำเสนออยู่นี้ คือการเอาเปรียบคนที่หาเช้ากินค่ำกันเลยทีเดียว
นี่เป็นเพราะรัฐบาลอธิบายหลักการของภาษีที่ดินได้ไม่ชัดพอ และพุ่งเป้าไปเฉพาะที่การหารายได้เข้ารัฐ เมื่ออธิบายหลักการยังไม่ผ่าน แต่กลับไปพูดถึงรายละเอียดอัตราภาษี 0.1 % สำหรับคนที่มีบ้านราคาเท่านั้นเท่านี้ จะเสียภาษีในอัตราเท่าไร ก็เลยกลายเป็นเรียกแขกชุดใหญ่เลยทีเดียว
อันที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และการถือครองทรัพย์สินและที่ดินมากประเทศหนึ่ง ดังที่มีงานศึกษาวิจัยเสนอออกมาหลายครั้งว่า นักการเมืองและนักธุรกิจเอกชนมีการสะสมที่ดิน เพื่อการเก็งกำไรเก็บไว้จำนวนมาก กลุ่มคนที่ฐานะดีจำนวนร้อยละ 20 ถือครองที่ดินในประเทศไทยถึงร้อยละ 60 ของโฉนดที่ดินที่มีอยู่ และนักการเมืองทั้งหลายก็อยู่ในกลุ่มประเภทคนร้อยละ 20 ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากนี้เอง ถ้าไม่มีภาษีที่ดินที่สูงพอ สังคมไทยก็อาจจะไม่มีโอกาสแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินได้ ภาษีที่ดินจึงควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน เพื่อให้ที่ดินที่ว่างเปล่า มีภาระต้นทุนในการถือครอง และคาดการณ์ว่านักเก็งกำไรบางส่วนอาจยอมขายที่ดินออกมาเพื่อให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดินบ้าง รวมถึงควรมีมาตรการอื่นที่ควบคู่กับภาษีที่ดิน เพื่อป้องปรามไม่ให้ที่ดินราคาสูงจนเกินความเป็นจริงของการใช้ประโยชน์ ทำให้คนจนและคนธรรมดาแทบไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินกับเขาเลย
หลักการเรื่องการจัดระเบียบการเงินการคลังเพื่อกระจายรายได้และทรัพย์สินของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน เหตุผลของการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน และเหตุผลของการลดการเก็งกำไรและป้องกันไม่ให้ที่ดินถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า รัฐบาลกลับไม่ยืนยันให้ชัด แต่กลับไปให้ความสำคัญกับอัตราภาษี เงินเพิ่มที่รัฐจะได้ และเงินที่ประชาชนจะต้องจ่าย น่าเสียดายจริงๆ ถ้าภาษีที่ดินที่สังคมไทยรอคอยมานาน จะต้องถูกแขวนให้รอต่อไป เพียงเพราะความไม่เข้าใจของคนในสังคมและการสื่อสารหลักการที่ไม่ชัดของคนที่ผลักดันภาษีเสียเอง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 27 มีนาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.