ถ้าไม่มีโอกาสคลุกคลีทำงานกับชาวนาภาคกลางที่มีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบจำนวนมหาศาล ก็อาจจะไม่มีโอกาสเข้าใจปัญหาหนี้สินของชาวนาได้ เพราะเหตุของการเป็นหนี้ของชาวนามีมากมายหลายเหตุผล ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวชาวนาเอง เช่น ค่าใช้จ่ายในครอบครัว
และค่าใช้จ่ายส่งลูกเรียน หรือเรื่องของการทำนาที่ไม่เคยคุ้มทุน แต่กลับเปลี่ยนอาชีพไม่ได้และไม่กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีการทำนาแบบใหม่ๆ ที่สำคัญคือไม่มีชาวนารุ่นใหม่ที่จะมาเรียนรู้และปรับปรุงวิธีการทำนาของพ่อแม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกมาก เช่น มีที่ทำกินน้อย ต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนา ไม่มีใครช่วยเหลือเรื่องการตลาด และไม่มีใครมาช่วยเรื่องยกระดับความรู้ ไม่ให้ถูกโกงจากนายหน้าเงินกู้ หรือนายหน้ากว้านซื้อที่ดิน
เรียกได้ว่าหากจะอธิบายปัญหาของชาวนาที่มีอยู่ทั้งหมด ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินค้างชำระ และจบลงด้วยการถูกยึดที่ดิน คงต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการสาธยายเรื่องนี้
ในหนังสือ "หนี้ชาวนา เดิมพันการสูญเสียที่ดิน" ที่จัดพิมพ์โดยกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงกรณีศึกษาของชาวนา 1 ราย ที่สูญเสียที่ดินให้กับนายทุนเงินกู้นอกระบบ และเกษตรกรอีก 2 ราย ที่สูญเสียที่ดินให้กับสถาบันการเงินในระบบของรัฐและเอกชน โดยในกรณีศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนการกู้เงินของชาวนา เหตุผลของการกู้เงิน เหตุผลที่ไม่สามารถชำระหนี้คืน ขั้นตอนทางกฎหมายและอิทธิพลมืดที่ชาวนาและเกษตรกรทั้ง 3 ราย ต้องเจอและถูกบีบบังคับให้สูญเสียที่ดินโดยไม่ได้ยินยอมแต่อย่างใด แม้จะมีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานรัฐหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้
โดยเฉพาะในรายของชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี นางอำพร บ่อแก้ว ที่ถูกยึดที่ดินและถูกทุบบ้านทิ้งโดยเจ้าหนี้นอกระบบ แม้แต่เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูล แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะคดีได้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายจนถึงที่สุดแล้ว การเยียวยาที่พอเป็นไปได้ ก็เพียงการหาที่อยู่ใหม่ชั่วคราวให้กับครอบครัวชาวนานี้เท่านั้น
จากกรณีศึกษาหนี้นอกระบบทำให้มองเห็นว่า มีกระบวนการการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้นอกระบบกับนายหน้าค้าเงินกู้ เพราะนายหน้าค้าเงินกู้คือคนที่ชาวนารู้จักและไว้ใจ นายหน้าค้าเงินกู้จะทำหน้าที่นำชาวนาที่เดือดร้อนเรื่องเงิน และมีโฉนดที่ดินอยู่ในมือหรืออยู่ในสถาบันการเงินไปพบกับเจ้าหนี้นอกระบบ หากชาวนามีโฉนดที่ดินอยู่ในมือ ก็สามารถนำโฉนดที่ดินไปทำสัญญาจำนอง หรือขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบได้เลย แต่หากชาวนามีโฉนดที่ดินอยู่กับสถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์การเกษตร หรือสถาบันการเงินอื่น นายหน้าค้าเงินกู้จะชักชวนให้ชาวนานำเงินกู้จากเจ้าหนี้นอกระบบไปจ่ายและเอาโฉนดที่ดินออกมาจากสถาบันการเงินแทน โดยมักให้เหตุผลว่าถ้านำโฉนดที่ดินมาไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ จะได้เงินกู้ในจำนวนที่มากกว่าสถาบันการเงิน ซึ่งหากชาวนามีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่กู้เพิ่มจากสถาบันการเงินที่วางโฉนดไว้ไม่ได้ ก็จะเลือกทำตามคำแนะนำของนายหน้าเงินกู้
การทำสัญญาเงินกู้แต่ละครั้ง ชาวนาที่ไม่รู้หนังสือมักจะให้ความไว้วางใจกับนายหน้าค้าเงินกู้เป็นผู้เขียนรายละเอียดในสัญญาแทน ส่วนชาวนาจะทำหน้าที่เพียงเซ็นชื่อในกระดาษที่นายหน้าบอกให้เซ็นเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชาวนาที่อายุมาก ไม่รู้หนังสือ และไม่รู้กฎหมาย มักจะถูกนายหน้าค้าเงินกู้บอกให้เซ็นชื่อในกระดาษเปล่า ส่วนรายละเอียดนายหน้าจะเป็นผู้เขียนตามทีหลัง
ในบางกรณีแม้ทำสัญญาเงินกู้แล้ว เจ้าหนี้นอกระบบยังสามารถใช้อิทธิพลบอกให้ชาวนานำโฉนดที่ดินแปลงอื่นที่ยังมีอยู่ในมือ เช่น โฉนดที่ดินของพ่อแม่หรือของพี่น้อง มาวางไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบเพิ่ม เพราะโฉนดที่ดินที่วางไว้เดิมไม่คุ้มกับจำนวนเงินกู้ที่ได้เบิกมาแล้ว จึงต้องให้ชาวนาไปหาโฉนดที่ดินมาให้เพิ่มอีก หากชาวนามีอาการขัดขืนไม่ยอมทำตาม เจ้าหนี้นอกระบบมักใช้กฎหมายมาข่มขู่ชาวนาให้กลัว เช่น เอาเงินกู้ไปแล้วถ้าไม่ทำตามที่เจ้าหนี้บอกจะเรียกทนายมาคุยด้วย หรือ ถ้าไม่เอาโฉนดที่ดินมาให้เพิ่ม จะเอาผิดทางกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งชาวนาที่ไม่รู้กฎหมาย และไม่มีใครให้คำปรึกษาทางกฎหมาย มักจบลงด้วยการทำตามที่เจ้าหนี้นอกระบบต้องการ ดังกรณีของนางอำพร บ่อแก้ว ที่ต้องเสียที่นาถึง 3 แปลง ให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ
เจ้าหนี้นอกระบบบางรายใช้วิธีทำเป็นว่าใจดี ให้นายหน้าค้าเงินกู้ไปบอกกับชาวนาว่า หากนำโฉนดที่ดินมาวางไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ นอกจากจะให้เงินกู้กับชาวนาแล้ว ยังจะชดใช้หนี้ก้อนเล็กๆ หรือหนี้ที่ทวงรายวัน ที่ชาวนาเรียกกันว่า หนี้หมวกกันน็อคให้กับชาวนาอีกด้วย ซึ่งพวกหนี้หมวกกันน็อค มักมีวิธีการทวงหนี้แบบโหดร้าย ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหากชาวนาไม่หาเงินมาใช้หนี้รายวัน ชาวนารายที่ในบ้านมีแต่ผู้หญิงและคนแก่ มักจะไม่กล้าขัดขืนกับพวกหนี้หมวกกันน็อคเหล่านี้ แต่เมื่อชาวนานำโฉนดที่ดินมาให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ และให้รายชื่อเจ้าหนี้รายย่อยเพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบรายใหญ่ใช้หนี้แทนแล้ว กลับถูกเจ้าหนี้บอกว่าโฉนดที่ดินที่นำมาวาง ตีมูลค่าได้แค่เงินที่ใช้หนี้เจ้าหนี้รายย่อยแทนให้เท่านั้น ชาวนาจึงไม่ได้เงินกู้กลับไปบ้านแม้แต่บาทเดียว แต่ต้องกลับบ้านพร้อมสัญญาเงินกู้ และสูญเสียโฉนดที่ดินให้กับเจ้าหนี้นอกระบบไป
หนี้นอกระบบของชาวนายังมีความซับซ้อนอีกมาก ซึ่งจะหาโอกาสกล่าวถึงในโอกาสต่อไป หากภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายนโยบาย มีเจตนาแท้จริงที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาให้หลุดพ้นจากบ่วงของหนี้นอกระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ ควรมีการจัดตั้งกลไกหรือสถาบันที่เข้ามาดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการศึกษาปัญหาในรายละเอียด เพื่อหาทางออกอย่างเร่งด่วน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 6 มีนาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.