เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 10 เดือน เพราะตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจะถึงกำหนดวันเปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเป็นการเปิดพรมแดนให้มีการซื้อขายสินค้าการเกษตรอย่างกว้างขวางและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ประเด็นสำคัญคือประเทศไทยได้เซ็นสัญญาข้อตกลงให้มีการนำเข้าสินค้า "ข้าว" จากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ต้องเสียภาษี ในขณะที่บางประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตั้งกำแพงภาษีและกำหนดโควต้าสำหรับสินค้า "ข้าว" ให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เพราะเกรงผลกระทบที่จะเกิดกับชาวนาในประเทศของเขา
หลังเปิด AEC อาจจะเห็นด้านดีที่จะเกิดขึ้น คือผู้บริโภคคนไทยจะมีโอกาสและทางเลือกในการกินข้าวดีและราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะเมื่อเปิด AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ่อค้าข้าวถุงของไทยก็จะไปกว้านซื้อข้าวคุณภาพดีแต่ราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านมาบรรจุถุงขายแทน เช่น ข้าวปอซาน (Pearl Paw San) ของพม่า ซึ่งเป็นข้าวชนะเลิศในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกในปี 2554 ข้าวผกามะลิ (Phaka Malis) และข้าวหอมลำดวน (Rumduol) ของกัมพูชา ซึ่งเป็นข้าวชนะเลิศในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลก ในปี 2555 ปี 2556 และ ปี 2557 สามปีติดต่อกัน
แต่อีกด้านหนึ่ง วิเคราะห์ล่วงหน้าได้เลยว่า หายนะที่ใหญ่หลวงจะตกกับพี่น้องชาวนาไทย เพราะจากข้อมูลเปรียบเทียบในแง่ต้นทุนการผลิตและผลผลิตต่อไร่ ข้าวไทยของเราด้อยประสิทธิภาพกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่ส่งออกข้าวเป็นสินค้าหลักอยู่มาก โดยเฉพาะเวียดนาม และพม่า ข้อมูลต้นทุนการทำนาปี 2555 พบว่าชาวนาไทยมีต้นทุนในการทำนาเฉลี่ยตันละ 9,763 บาท ส่วนชาวนาเวียดนามและพม่า มีต้นทุนการทำนาเฉลี่ยตันละ 4,070 บาท และ 7,121 บาท ตามลำดับ โดยชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาวนาเวียดนาม และพม่าถึง 5,692 บาทต่อตัน และ 2,641 บาทต่อตัน ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็ต่ำกว่าเวียดนาม โดยของไทยอยู่ที่ 450 กิโลกรัมต่อไร่ เวียดนาม 900 กิโลกรัมต่อไร่ ยกเว้นพม่าที่มีผลผลิตต่อไร่น้อยกว่าของไทยเล็กน้อย อยู่ที่ 420 กิโลกรัมต่อไร่ (ที่มา: ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย)
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน เพราะชาวนาไทยในเขตภาคกลางร้อยละ 70-80 เป็นชาวนาเช่า ทำให้มีต้นทุนการทำนาสูงกว่าชาวนาเวียดนาม และพม่า ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง โดยจากงานศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ปี 25557 พบว่า สัดส่วนต้นทุนการผลิตที่ชาวนาภาคกลางแบกรับมากที่สุด 3 อันดับ คือ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าเช่าที่ดิน ดังนั้นการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนา นอกจากการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตที่ลดการพึ่งพาสารเคมีให้น้อยลงแล้ว การแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการผลิตคือที่ดินก็เป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันเรื่องข้าวไทยซึ่งเคยเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันกลับด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นั่นเพราะนโยบายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องข้าวและชาวนาของรัฐที่ผ่านมายังไม่เป็นผล ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการลดต้นทุนการผลิตของชาวนา มีการประกาศว่าจะให้มีการลดราคาปุ๋ย ลดราคาสารเคมี ลดค่าไถ ลดค่าเช่านา หรือส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาก็ไม่ได้ลดลงตามนโยบายที่กล่าวไว้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังเกิดจากความทับซ้อนของผลประโยชน์ทางการเมือง ตัวอย่างเช่น นโยบายเรื่องการนำเข้าสารเคมีการเกษตรซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา รัฐได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรจากต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ใช้สารเคมีการเกษตรในราคาที่ถูกลง ทั้งที่ความเป็นจริงราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรกับการยกเลิกภาษีนำเข้าสารเคมีไม่ได้เชื่อมโยงกันแต่อย่างใด ที่ผ่านมาราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรสูงขึ้นเรื่อยๆและมีแนวโน้มปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังรายงานการศึกษาการใช้สารเคมีทางการเกษตร ของมูลนิธิข้าวขวัญ พบว่า ในปี 2555 ต้นทุนสารเคมีของชาวนาคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด แต่ปี 2557 ต้นทุนสารเคมีของชาวนาเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 42 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
ดังนั้นในปี 2559 เมื่อเปิด AEC ข้าวของเวียดนาม พม่า และกัมพูชาจะทะลักเข้าไทยแค่ราคาตันละ 6,000 บาท ชาวนาไทยก็จะพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงคาดการณ์ว่าหากชาวนาไทยไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้ รวมทั้งหากภาครัฐไม่เร่งกำหนดนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ชาวนาไทยกว่าครึ่งหนึ่งจะล้มเหลวทางการผลิตและเลิกอาชีพทำนาไปในที่สุด
ทางเลือกและทางรอดของชาวนาที่ยังพอมีอยู่ หากต้องการจะดำรงรักษาอาชีพชาวนาเอาไว้ นั่นคือ 1. การลดต้นทุนการผลิตข้าวไม่ให้สูงกว่า 4,000 บาทต่อไร่ (ปัจจุบันต้นทุนการทำนาปรัง ปี 2556 เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 5,858 บาทต่อไร่) 2. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหันมาปลูกข้าวคุณภาพดี ราคาสูงแทน เช่น ข้าวอินทรีย์เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภค โดยมีการกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นธรรมเพื่อให้ชาวนาอยู่รอดได้ในอนาคต
ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ หากภาครัฐยังไม่สามารถทำความเข้าใจและสนับสนุนให้ชาวนาปรับตัว เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว เพื่อให้แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้แล้ว เมื่อถึงเวลาของการเปิด AEC ชาวนาไทยที่ปรับตัวไม่ได้ ก็จะกลายเป็นชาวนาที่ล้มละลาย และสูญหายไปในที่สุด
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 20 มีนาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.