ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "Smart Farmer" หรือ "เกษตรกรปราดเปรื่อง" ซึ่งปัจจุบันคำนี้เริ่มเป็นกระแสที่ติดปากติดหูและรู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในสังคม นับตั้งแต่ปี 2555 แนวคิดเรื่องนี้ได้ถูกขับเคลื่อนเป็นแผนงานและยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรไทยเป็น "Smart Farmer"
นั่นคือ เป็นเกษตรกรที่มีความรู้อย่างถ่องแท้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร นอกจากนี้ได้กำหนดคุณสมบัติด้านรายได้ของเกษตรกรที่เป็น "Smart Farmer" ว่าต้องมีรายได้จากการทำการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
นอกจากนี้แนวคิด "Smart Farmer" เป็น 1 ใน 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาการเกษตร ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) แนวคิดนี้เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงในมิติของการผลิตและ การตลาด รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและการตลาดในระดับที่พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้จัดการฟาร์มมืออาชีพที่ทำการเกษตรได้จนประสบความสำเร็จ
ในแผนพัฒนาการเกษตร แผนฯ 11 ระบุว่าจากสภาพปัญหาของภาคเกษตรกรรมไทยที่ยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะในมิติของผลิตภาพ (Productivity) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงและรายได้เกษตรกรมีอัตราเฉลี่ยต่ำ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมทั้งความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาดังกล่าวสะท้อนว่าอาชีพเกษตรกรยังขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและโอบอุ้มเกษตรกรไว้อยู่ตลอดเวลา
พิจารณาจากเป้าหมายนโยบายดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง เท่าทันยุคสมัย มีการบูรณาการงานด้านเกษตรกับมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อไปสู่เป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการส่งเสริมของภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกษตรกรไทยเป็น "Smart Farmer" ยังมีคำถามและข้อควรคำนึงที่สำคัญบางประการ นั่นคือ 1.ทำอย่างไรกระบวนการและแนวทางส่งเสริมเพื่อสร้าง "Smart Farmer" ครั้งนี้จะไม่มุ่งเพียงแค่สนับสนุนเกษตรกรต้นแบบในลักษณะปัจเจกบุคคล หรือในรายเกษตรกรที่มีศักยภาพและช่วยเหลือตนเองได้ดีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ควรมีแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนไปยังกลุ่มองค์กรเกษตรกรรายย่อยที่มีแนวคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง แต่ยังขาดโอกาสและมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาด้านหนี้สินและที่ดินทำกิน เป็นต้น โดยกำหนดตัวชี้วัดได้ว่าเมื่อเกษตรกรเหล่านี้ดำเนินตามแผนงานดังกล่าวแล้วได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิต เช่น หนี้สินลดลง มีความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น
2.การสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรรู้จักใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่ เพื่อมุ่งตอบสนองศักยภาพด้านการผลิตและคุณภาพของสินค้า หากเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูง อาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินสูงด้วยเช่นกัน
3.ทำอย่างไรแนวทางการวางแผนข้อมูลด้านพืชเพื่อโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกตามศักยภาพของพื้นที่ จะไม่เป็นการบีบบังคับให้เกษตรกรรายย่อยล้มหายตายจากไป เหลือเพียงแต่เกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่ หรือเป็นการตอบสนองต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร มากไปกว่าการสร้างความเข้มแข็งและยังยืนให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
ดังนั้น นิยามความหมายของ "Smart Farmer" ที่ครบถ้วนควรมองวิถีที่มากไปกว่าระดับแปลง ไม่ควรชี้วัดหรือมุ่งเน้นด้านรายได้และประสิทธิภาพทางการผลิตเพียงเท่านั้น แต่ควรมองเชื่อมโยงไปกับการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เชื่อมโยงไปสู่การที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเกษตรกรแห่งยุคสมัยที่มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้นความเป็นเกษตรกรแห่งยุคสมัยอาจยังเห็นการดำรงอยู่ของวิถีเกษตรกรรายย่อยแบบเดิมควบคู่ไปกับวิถีเกษตรกรรมแบบทันสมัย ซึ่งไม่ใช่การมองสังคมเกษตรแบบอุดมคติเพ้อฝัน ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ควรมองคือการอยู่ตรงกลาง ไม่เห็นด้วยกับแบบแผนวิถีชีวิตของสังคมอุตสาหกรรมเสียทั้งหมด ความสุข ความสบาย ความเท่าเทียม และการมีชีวิตที่ดีนั้น ต้องไม่ทิ้งมิติความเชื่อมโยงกับความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.