"ถ้าให้เลือกระหว่าง 1.การให้กลไกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซื้อหนี้เกษตรกร กับ 2.การปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร โดยกองทุนฟื้นฟูไม่ได้ซื้อหนี้จากเกษตรกร เกษตรกรจะเลือกอะไร" เป็นคำถามที่ผมโยนไปที่ คุณคัคนางค์ สุวรรณทัต หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม
คุณคัคนางค์เริ่มเกริ่นให้เห็นภาพรวมของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งสองแบบซึ่งมีข้อดีและด้อยในตัวว่าก่อนจะให้คำตอบผม ซึ่งผมจะขอเล่าแบบสรุปๆ นะครับ
สมมติว่าเกษตรกรรายหนึ่งมีหนี้สินสุทธิกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีเงินต้นตอนกู้ยืมกับสถาบันการเงิน จำนวน 500,000 บาท และดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินต้นนี้จำนวน 500,000 บาท (ซึ่งชาวนาภาคกลางที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่ที่ผมเจอ มียอดหนี้ในลักษณะนี้กันทั้งนั้น คือ เงินต้นกับดอกเบี้ย มีสัดส่วนเป็นครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว) รวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว เกษตรกรรายนี้จะมียอดหนี้สุทธิ 1,000,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เป็นที่ดินจำนวน 3 ไร่
การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรแบบที่ 1 กองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้ของเกษตรกรรายนี้จาก ธ.ก.ส. ดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 500,000 บาท จะถูกตัดทิ้ง ให้เหลือเฉพาะเงินต้นจำนวน 500,000 บาท แล้วเงินต้นที่เหลือจำนวนนี้จะถูกแบ่งครึ่ง โดยครึ่งแรกจำนวน 250,000 บาท กองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นผู้ชำระหนี้แทนเกษตรกร ส่วนที่เหลืออีก 250,000 บาท จึงจะเป็นภาระของเกษตรกรรายนั้นที่จะชำระหนี้คืนกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรวิธีแรกนี้ โฉนดที่ดิน 3 ไร่จะถูกเก็บไว้ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จนกว่าเกษตรจะทำการชำระหนี้สินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เริ่มต้นคิดใหม่ร้อยละ 1 บาทต่อปีให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จนหมด เกษตรกรจึงจะได้รับโฉนดที่ดินคืน
การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรแบบที่ 2 กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้ซื้อหนี้ของเกษตรกรจาก ธ.ก.ส. แต่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง ธ.ก.ส. กับเกษตรกร ซึ่งวิธีนี้ หนี้สินจำนวน 1 ล้านบาท จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเงินต้นจำนวน 500,000 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 500,000 บาท ส่วนที่เป็นเงินต้น 500,000 บาท จะถูกแบ่งอีกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 250,000 บาท โดยในเบื้องต้นเกษตรกรจะรับภาระในการชำระหนี้เพียง 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เริ่มต้นคิดใหม่ร้อยละ 7.3 บาทต่อปีให้กับ ธ.ก.ส. ในระยะเวลา 15 ปี จนหมด เกษตรกรจึงจะได้รับโฉนดที่ดินคืน หากเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขนี้ได้ ดอกเบี้ย 500,000 บาท และเงินต้น 250,000 บาท จะถูกโอนกลับเข้ามาเป็นภาระหนี้ของเกษตรกรเหมือนเดิม
มาถึงตรงนี้คงพอนึกภาพได้คร่าวๆ เหมือนผมแล้วใช่ไหมครัวว่า ถ้าเลือกได้เกษตรกรจะเลือกแก้ไขปัญหาหนี้แบบไหน ซึ่งคุณคัคนางค์ก็สรุปตามที่ผมคิดไว้ครับนั่นแหละครับ คือ เกษตรกรต้องเลือกแบบแรกอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังมีคำถามต่อไปว่า "ในเมื่อแบบแรกดีอยู่แล้ว แล้วทำไมยังมีเกษตรกรเลือกแบบที่ 2 ละ" คุณคัคนางค์จึงสรุปให้ฟังว่า
วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ในแบบที่ 2 จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ในกรณีที่ เกษตรกรประเมินแล้วว่า หากรอกระบวนการซื้อหนี้โดยกองทุนฟื้นฟูฯ อาจไม่มีความแน่นอนในเรื่องระยะเวลาว่ากองทุนจะซื้อหนี้ให้เมื่อไหร่ ดังนั้นจึงตัดสินใจใช้วิธีการที่สอง แม้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะสูงกว่าแบบแรกถึง 7 เท่า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เลือกการแก้ไขปัญหาหนี้แบบที่ 2 นี้ ส่วนมากเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ จึงพร้อมที่จะเลือก
ถือเป็นแนวทางที่พอเลือกได้ ณ ขณะนี้สำหรับเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินครับ ช่วงหลังๆ มานี้มีข่าวมาเป็นระยะๆ ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเสนอให้ยุบกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งประเด็นเหตุผลหลักก็คือ "ความล้มเหลวของการบริหารงานอันเกิดจากคณะกรรมการกองทุนฯ" โดยส่วนตัวผมคิดว่า แม้จะมีความจริงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คุณูปการที่เกษตรกรจำนวนมากได้รับการชำระหนี้แทน หรือซื้อหนี้จากกองทุนฟื้นฟูก็มีไม่น้อยทีเดียวครับ
สิ่งที่น่าจะต้องทำก็คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูฯ ควรจะช่วยกันทบทวนบทบาท ภารกิจ การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากันอย่างเอาจริงเอาจัง และปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างจริงจัง ไม่ใช่การทำงานโดยมองเพียงผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้นครับ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.