ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทยอยออกมาตรการแก้ไขปัญหาเกษตรกรหลายเรื่อง ทั้งมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่จะจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรใน 4 จังหวัด พื้นที่กว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้
รวมไปถึงมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกหนี้และลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้ NPL) ประมาณ 4 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ และล่าสุดคือการเตรียมเสนอร่างกฎหมายรายได้และสวัสดิการเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะใช้งบประมาณราวหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ในการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับเกษตรกรตามชนิดพืชที่ปลูก และตั้งเป้าหมายให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558
ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังเร่งมือให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานมีมาตรการและผลงานในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ กับโครงสร้างของภาคราชการที่เป็นอยู่ ยังต้องจับตาดูและถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดนี้
ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกษตรกรไทย มีฐานะทางเศรษฐกิจไปไม่ได้ไกลเมื่อเทียบกับเกษตรกรในประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอนาคตอาจจะรวมถึงเวียดนามด้วยนั้น คือปัญหาเกษตรกรขาดแคลนที่ดินทำกิน เนื่องด้วยประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดินเหมือนประเทศที่กล่าวมา รวมทั้งการพึ่งตนเองไม่ได้ในปัจจัยการผลิตต่างๆ ของเกษตรกรไทย แต่กลับต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากบริษัท ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา และสารเคมีต่างๆ ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูง และภาวะพึ่งพาที่ไม่มีวันจบ รวมไปถึงขาดการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีที่ทำให้เกษตรกรเท่าทันกับสถานการณ์สังคมปัจจุบันและภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวชาวนาจาก อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 51 คน ถูกนายหน้าหลอกเก็บเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นค่านำไปเช่าที่นาใน อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยคิดค่านายหน้า 50,000 บาท หากต้องการเช่าที่นา 100 ไร่ แต่จนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีที่นาที่จะให้เช่าได้ นายหน้ารายนี้เคยหลอกเอาเงินจากชาวนาในจังหวัดอ่างทอง และสุพรรณบุรี ที่ต้องการเช่าที่นาเพิ่มด้วยเช่นกัน ทำให้ชาวนาทั้ง 3 จังหวัดนี้สูญเงินไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท เห็นได้ว่ามีชาวนาจำนวนมากที่ต้องการที่ดินเพื่อทำนา จนทำให้เกิดอาชีพใหม่คือนายหน้านำไปหาที่เช่านาแบบหลอกลวงขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ข้าวราคาดีแต่ชาวนากลับไม่มีพื้นที่ทำนา
รวมไปถึงข่าวใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อชาวนาจังหวัดลพบุรีตัดสินใจจุดไฟเผาตัวเองเพราะปัญหาหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถชำระคืน และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจของคนในสังคมและส่งผลให้รัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
การขาดแคลนที่ทำกิน และภาระหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืน เป็นปัญหางูกินหางของเกษตรกรไทย เพราะการขาดแคลนที่ทำกินทำให้เกษตรกรขาดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เกษตร เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นของตัวเองอย่างเป็นกอบเป็นกำ หากเกษตรกรต้องการสร้างรายได้มาก ก็ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินสูงมาก (ต่างกับเจ้าของที่ดินที่มีรายได้ที่แน่นอนจากค่าเช่า และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผลิตเหมือนเกษตรกร) เมื่อต้นทุนการผลิตเกษตรกรสูงมาก แต่เจอภาวะความเสี่ยงจากดินฟ้าอากาศและราคาพืชผลไม่แน่นอนซ้ำซาก จึงเกิดภาระหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืน นำไปสู่ปัญหาการสูญเสียที่ทำกิน และการขาดแคลนที่ทำกินในที่สุด ซึ่งก็วนกลับไปที่ปัญหาเช่าที่ดินและต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาหนี้สินสืบเนื่องไปอีก ส่งผลกระทบมาแล้วกับเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่น
ดังข้อมูลปัจจุบันที่มีการประมาณการณ์กันว่า เกษตรกรทั่วประเทศ 5.8 ล้านครอบครัว น่าจะมีเกษตรกรไร้ที่ทำกินถึง 1.5 ล้านครอบครัว และไม่มั่นคงในสิทธิที่ดินอีกเกือบ 10 ล้านคน ขณะที่หนี้สินของเกษตรกรรวมกันทั่วประเทศน่าจะอยู่ในราว 1.3 ล้านล้านบาท โดยเกษตรกรมีหนี้สินอยู่กับ ธ.ก.ส. มากที่สุด คือเกือบ 1 ล้านล้านบาท รองลงมาคือสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์ แหล่งละประมาณ 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่เคยมีการศึกษาว่าจำนวนที่ดินที่เกษตรกรสูญเสียให้กับสถาบันการเงินแล้วจากปัญหาหนี้สินค้างชำระมีจำนวนเท่าใด แต่ปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่ามีที่ดินเกษตรกรจำนวน 30 ล้านไร่ ติดจำนองผูกพันอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ
การที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจัดสรรที่ดินให้ในพื้นที่บางจังหวัด มีแผนจะยกหนี้และลดหนี้ให้กับเกษตรกรบางกลุ่ม และเตรียมทำกฎหมายประกันรายได้ขั้นต่ำให้เกษตรกรโดยใช้วงเงินถึงหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังไม่นำไปสู่ปัญหาอันเป็นหัวใจ ที่กลายเป็นปัญหางูกินหางของเกษตรกรปัจจุบันนั่นคือปัญหาการขาดแคลนที่ทำกิน
หากยังจำกันได้ในงานศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เคยเสนอเอาไว้ว่ารัฐบาลควรตั้งงบประมาณปีละหนึ่งแสนล้านบาทเพื่อจัดหาและซื้อที่ดินสำหรับจัดสรรให้เกษตรกรไร้ที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หากรัฐบาลมีแผนจะใช้เงินหนึ่งแสนล้านบาทเพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำและสวัสดิการสำหรับเกษตรกร รัฐบาลควรพิจารณาด้วยเช่นกันว่าสวัสดิการที่เกษตรกรในประเทศไทยทุกคนพึงได้รับ ควรเริ่มต้นจากการที่เกษตรกรมีที่ทำกินเป็นของตนเอง เพื่อสร้างฐานะและรายได้ที่ทัดเทียมกับอาชีพอื่น และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาทางโครงสร้างให้กับเกษตรกร
เงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนมีคุณค่า หากแต้ถ้าจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกร เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจของเกษตรกรและประเทศโดยรวมดีขึ้น ถึงจะนับว่าแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ในทางกลับกัน หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ได้ การก้าวไปข้างหน้าของเกษตรกรไทยก็น่าจะเป็นไปได้ยาก และทุกรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เกษตรกรเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดิน ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ และปัญหาหนี้สินและความล้มเหลวของอาชีพเกษตรกรอยู่ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.