เริ่มต้นพุทธศักราชใหม่ปี พ.ศ. 2558 มีข่าวดีข่าวหนึ่งซึ่งหากทำได้จริงก็จะเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญสำหรับพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ จากการที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลอันประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือและเห็นชอบร่วมกันว่ารัฐบาลต้องเข้าไปแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน (โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 ม.ค. 2558)
แนวทางคร่าวๆ ที่รัฐบาลวางไว้คือ การตัดหนี้สินบางส่วนของเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท โดยนำร่องแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่มีอยู่กับกองทุนหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร โดยคาดหวังว่าเมื่อมีการลดหนี้แล้วเกษตรกรจะมีเงินเหลือที่จะนำไปประกอบอาชีพและสามารถลืมตาอ้าปากได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนี้สินที่เหลือรัฐบาลจะตั้งองค์กรหรือกองทุนเฉพาะขึ้นมาดูแล โดยให้เกษตรกรทยอยผ่อนส่งหนี้ในระยะยาว
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ปัจจุบันหนี้สินของเกษตรกรที่มีอยู่กับกองทุนต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุน สปก. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มีมูลหนี้ทั้งหมดราว 9,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ร้อยละ 42 ส่วนหนี้สินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงถึงร้อยละ 35 ในขณะที่หนี้สินสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ 1.1 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสียร้อยละ 22 เทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีหนี้เสียเพียงร้อยละ 3-4 จะเห็นได้ว่าหนี้สินเกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่งที่อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือเรียกง่ายๆ ว่าหนี้เสีย
หลายสิบปีที่ผ่านมาเกษตรกรยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม อาชีพเกษตรกรยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยกว่าอาชีพอื่น ซึ่งหากสามารถปลดล็อคปัญหาหนี้สินที่คั่งค้างเหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่โอกาสและความหวังในการฟื้นฟูศักยภาพด้านอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น
มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของภาครัฐที่ผ่านมามีผลดีผลเสียที่แตกต่างกัน แนวทางแรกการตัดหนี้ให้เกษตรกร ดังกรณีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่ระบุให้หนี้ของเกษตรกรที่มีอยู่กับสหกรณ์การเกษตร ให้โอนมาอยู่กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) คือ ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทนเกษตรกรร้อยละ 50 (หนี้ก้อนนี้เกษตรกรทยอยผ่อนกับกองทุนฟื้นฟูฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี) ส่วนเงินต้นที่เหลือร้อยละ 50 และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 รัฐบาลจ่ายชดเชยให้ ข้อดีของแนวทางนี้คือ การลดหนี้ของเกษตรกรเห็นผลจริง และสัดส่วนการตัดหนี้ครึ่งหนึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระคืนได้ แต่ข้อเสียคือรัฐอาจใช้งบประมาณจำนวนมากในการตัดหนี้ให้เกษตรกร
แนวทางที่สอง การพักชำระหนี้ เป็นแนวทางที่รัฐบาลนำมาใช้บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 การพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร โดยเกษตรกรจะได้รับการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ของมูลหนี้ที่คงเหลืออยู่จริง ข้อดีของแนวทางนี้คือรัฐใช้งบประมาณไม่มากนัก แต่มูลหนี้หรือเงินต้นของเกษตรกรไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เป็นเพียงการชะลอหรือยืดเวลาการชำระหนี้เท่านั้น
แนวทางที่สาม การปรับโครงสร้างหนี้ กรณีการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มีหนี้กับ ธ.ก.ส. ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 และ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 โดยการพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 50 และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน ส่วนเงินต้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 50 ให้เกษตรกรชำระตามงวด และระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยระหว่างการผ่อนชำระร้อยละ 3.75 ต่อปี ซึ่งหากเกษตรกรสามารถชำระหนี้คืนครบถ้วนตามกำหนด ก็จะยกเงินต้นร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ทั้งหมด ข้อดีของแนวทางนี้คือสามารถลดหนี้ให้เกษตรกรได้จริง ข้อเสียคือมีเงื่อนไขผูกมัดว่าจะตัดหนี้ร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดให้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรไม่ผิดนัดชำระหนี้
แนวทางที่สี่ การปลดหนี้ กรณีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่ให้ปลดหนี้เกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ในกรณีที่เกษตรกรเสียชีวิต หรือพิการ ทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 จะได้รับการปลดหนี้ หรือจำหน่ายเป็นหนี้สูญทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามการปลดหนี้ไม่ครอบคลุมเกษตรกรที่เสียชีวิตภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และไม่ครอบคลุมข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรที่ต้องการให้รัฐปลดหนี้ให้เกษตรกรผู้สูงอายุ ซึ่งขาดรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
หากเปรียบเทียบแนวทางการตัดหนี้ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และปลดหนี้เกษตรกรข้างต้น แนวทางที่ส่งผลต่อการลดหนี้ของเกษตรกรมากที่สุด คือแนวทางการตัดหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตัดหนี้ในสัดส่วนที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระหนี้ที่เหลือคืนได้ แต่ทั้งนี้การจะนำแนวทางใดมาใช้ รัฐบาลควรคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานะของลูกหนี้ เจ้าหนี้ และภาระงบประมาณของรัฐ
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งคือ การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรควรดำเนินการควบคู่กับแนวทางการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรที่ยั่งยืน คือทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่กลับมาติดบ่วงภาระหนี้สินอีก หลังจากได้รับการลดและปลดหนี้แล้ว
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 16 มกราคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.