นับแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภายหลังจากรัฐบาลประกาศเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน้าทำเนียบรัฐบาล จึงคึกคักไปด้วยม็อบเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อทวงถามความคืบหน้า
และเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาเร่งด่วนกว่าสองหมื่นราย ซึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีจากสถาบันการเงิน และคาดหวังให้รัฐบาลชุดนี้อนุมัติงบประมาณ 2.3 พันล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมาเคยอนุมัติไว้ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯดำเนินการซื้อหนี้ของเกษตรกรเพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดิน
ปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศขึ้นทะเบียนหนี้ หรือยื่นคำขอให้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยซื้อหนี้ ประมาณ 5 แสนราย มูลหนี้ 79,420 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และถูกฟ้องดำเนินคดี 1.77 แสนราย มูลหนี้ 44,211 ล้านบาท แต่หากพิจารณารายละเอียดการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ดูเหมือนว่าแนวทางอาจจะยังไม่สอดรับและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรนัก
แนวทางระยะสั้นที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ คือ เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระกับโครงการส่งเสริมของรัฐและกองทุนในกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอดหนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยอาจจะมีการยกหนี้บางส่วนให้ และบางส่วนอาจตัดยอดหนี้
ส่วนเกษตรกรที่จะเข้าหลักเกณฑ์การยกเลิกหนี้หรือตัดหนี้สูญ จำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกรณีภัยพิบัติธรรมชาติ 3.เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ 4.เกษตรกรที่หนี้ขาดอายุความ 5.เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป 6.เกษตรกรที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.เกษตรกรที่เสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้ชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง 9.เกษตรกรที่มีรายได้น้อย หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ 10.เกษตรกรผู้มีต้นเงินกู้ไม่เกิน 1-3 หมื่นบาท ที่น่าสังเกตคือข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกร ที่ขอให้ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาเร่งด่วน เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการถูกฟ้องร้องและกำลังจะถูกยึดที่ทำกิน กลับไม่ได้ถูกรวมอยู่ในแผนเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯ แต่อย่างใด
แม้ว่า พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการผลักดันและเรียกร้องของเกษตรกร โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นสถาบันในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งระบบ มีความเชื่อมั่นในพลังจากการรวมกลุ่มของเกษตรกร วางแนวทางบริหารโดยตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา จึงมีเงื่อนไขให้สมาชิกต้องสังกัดกลุ่มองค์กรเกษตรกร ไม่รับสมาชิกแบบปัจเจก นั่นคือคิดไกลไปกว่าการปลดเปลื้องหนี้สิน และป้องกันการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกร
แต่ปัญหาสำคัญคือโจทย์แรกในการซื้อหนี้ของเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ กลับสอบไม่ผ่าน โดยสาเหตุหลักที่การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูฯ ล้มเหลว เกิดจากความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการภายในสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ขาดประสิทธิภาพและอิงผลประโยชน์ของเกษตรกรเพียงบางกลุ่ม
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มรวมทั้งฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกันว่าทิศทางในอนาคต กลไกการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ อาจจะเดินมาถึงทางตัน และนำไปสู่การยุบหรือตัดโอนภารกิจการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรออก และให้คงไว้เฉพาะภารกิจการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรภายหลังการจัดการหนี้แล้วเท่านั้น โดยรัฐมีแนวทางยุบรวมกองทุนของรัฐที่เกี่ยวกับเกษตรกรทั้งหมดเพื่อบริหารจัดการเป็นกองทุนเดียวกัน
หากรัฐบาลจะปฏิรูปกลไกแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรครั้งใหม่ในเร็ววันนี้ แนวทางสำคัญซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ควรจะคงไว้ และไม่ควรถูกยุบหายไปกับกองทุนฟื้นฟูฯ นั่นคือการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มองค์กรเกษตรกร เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และควรเป็นองค์กรเกษตรกรที่สร้างหลักประกันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์และความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่ใช่การรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งสร้างความเสียหายอย่างที่กองทุนฟื้นฟูฯ ประสบอยู่ปัจจุบัน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.