ปีสองปีก่อนหน้า หรือกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมานี้ หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบสตรอว์เบอร์รี่น่าจะยังคงจำได้ว่า ทุกๆฤดูหนาวเราจะได้เห็นสตรอว์เบอร์รี่ออกมาวางขายตามท้องตลาดทั่วไปในราคาที่ไม่แพงมาก เราๆท่านๆ สามารถซื้อหามารับประทานกันได้อย่างไม่ลำบากมาก แต่ปีนี้สิครับ
หากสังเกตหน่อยเราจะเห็นว่าสตรอว์เบอร์รี่สุดแสนจะหามารับประทานได้ยากมาก ตามตลาดที่เคยมีก็ไม่มี และไอ้ที่พอมีบ้างก็สุดแสนจะแพงลิบลิ่ว โดยเฉพาะในห้างดังๆ แม้ว่าจะพอมีสตรอว์เบอร์รี่วางขายให้เห็นบ้าง แต่ราคาก็แพงมากเหลือเกินครับ ผมเจอราคาที่ห้างใหญ่แห่งหนึ่งย่านงามวงศ์วาน มีแพ็คขายใส่กล่องพลาสติกน้ำหนัก 400 กรัม(4 ขีด) ราคาอยู่ที่ 400 บาท สรุปว่าราคาขายอยู่ที่ขีดละ 100 บาท หรือกิโลกรัมละ 1,000 บาท แพงไหมหละครับ
ที่ผมขึ้นต้นบทความชิ้นนี้ด้วยเรื่องสตรอว์เบอร์รี่ก็ด้วยเหตุที่ว่า ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ เพื่อนผมพาผมตระเวนสำรวจพื้นที่ตามย่านต่างๆ ระหว่างทางเจอรถกระบะบรรทุกพืชผักต่างๆ สวนทางมาไม่ขาดสายครับ บางคันจอดพักรถ เราจึงได้มีโอกาสลงไปพูดคุยซักถามจึงรู้ว่า พืชผักเหล่านี้ (กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี หอม กระเทียม ตลอดจนสตรอว์เบอร์รี่) จะถูกนำไปส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วพ่อค้าแม่ขายเหล่านั้นก็จะนำไปขายปลีกต่อไปยังผู้บริโภค
พอมาถึงร้านจำหน่ายสินค้าข้างทาง เรามุ่งหน้าไปยังร้านขายสตรอว์เบอร์รี่และผลิตภัณฑ์จากสตรอว์เบอร์รี่ที่จำหน่าย สตรอว์เบอร์รี่สด น้ำสตรอว์เบอร์รี่ ไวน์สตรอว์เบอร์รี่ แยมสตรอว์เบอร์รี่ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ที่เราสนใจคือสตรอว์เบอร์รี่สดครับ แต่ทำไม่ราคาไม่แพงเหมือนอย่างที่คิดไว้ ตกอยู่เพียงราคา 200-300 บาทต่อกิโลกรัมตามขนาดและคุณภาพของผลสตรอว์เบอร์รี่ครับ
ทีนี้เรามุ่งหน้าตามหาแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รี่ต่อไปครับ(คิดแล้วเหมือนไปทำรายการตามหาอะไรสักอย่าง) เยี่ยมเลยทีนี้ สิ่งที่เรามีโอกาสได้พบเห็นก็คือ เรามาพบเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ครอบครัวหนึ่ง ที่ผมและเพื่อนสนใจก็คือ มันไม่ใช่แค่ไร่สตรอว์เบอร์รี่ แต่มันคือ “ไร่สตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์” ซึ่งเป็นอะไรที่น่าแปลกมาครับ เพราะว่า สตรอว์เบอร์รี่เป็นพืชที่ทำได้ยากมาก ยิ่งถ้าไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วหละก็ ไม่มีทางที่จะไปรอดครับ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ณ ที่นี้ ณ หมู่บ้านหาดส้มป่อย ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรครอบครัวหนึ่ง ซึ่งได้มีการทำประโยชน์บนที่ดินทำกินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ดินราวๆ 2 ไร่เศษ สามารถทำการผลิตหล่อเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษาได้ถึง 2 คน (ป.โท และ ป.ตรี)
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในวันนั้นก็คือ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ลูกชายคนเล็กของครอบครัวเกษตรกรครอบครัวนี้ เขาคนนี้ชื่อ “พอล” หรือ “เอกพันธุ์ จันทะกี” ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนนี้แหละครับที่ผมบอกว่าน่าสนใจ พอลเล่าให้ผมฟังตอนหนึ่งว่า “ผมภูมิใจในความเป็นครอบครัวเกษตรกร พ่อแม่ผมทำเกษตร ส่งพี่สาวผมเกือบจะจบ ป.โท แล้วตอนนี้ ส่วนผมก็ใกล้จบ ป.ตรี แล้ว ถ้าผมจบผมจะไม่ไปไหน ผมจะนำความรู้ที่ได้มามาพัฒนาระบบเกษตรในแปลงเล็กๆ แห่งนี้ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม”
พอลเล่าต่อว่า “ตอนนี้ผมขายสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์อยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ว่าราคาตลาดจะขึ้นหรือลงผมก็จะขายในราคานี้ ที่ผมสนใจจะพัฒนามากเป็นพิเศษในตอนนี้ก็คือ การทำให้สตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์มีคุณภาพมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น ลูกใหญ่มากขึ้น หวานมากขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เนื่องจากช่วงหลังๆนี้มีผู้สนใจสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่แปลงของเราให้ผลผลิตน้อย โดยเฉพาะปีนี้สตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์ในแปลงของผมมีผลผลิตน้อยมากๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่า หลังจากที่ผมจบมาผมจะเอาความรู้มาปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง” นั่นคือส่งที่พอลพูดถึงครับ
ประเด็นที่ผมคิด ทบทวน ต่อยอดจากพอลแล้วมาตั้งคำถามกลับไปกลับมาอยู่ในใจจนถึงตอนนี้ก็คือว่า ณ วันนี้จะมีลูกหลานเกษตรกร ลูกหลานที่พ่อแม่ทำอาชีพเกษตร ลูกๆ ที่พ่อแม่ทำนาอยู่บ้านแล้วส่งเข้าไปเรียนในเมือง จะมีสักกี่มากน้อยที่มีแนวคิดอยากจะกลับไปบ้านหลังจากเรียนจบ ไม่ใช่การเรียกร้องอะไรนะครับ เพียงแต่คิดเปรียบเทียบกับภาวะการณ์ปัจจุบันที่ยัดเยียดความเป็นคนสมัยใหม่ ทอดทิ้งนาไร่ไปสู่สังคมใหม่ อันนี้คือคำถามแรกครับ
ส่วนคำถามต่อมาก็คือว่า เราในฐานนะมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน หรือในฐานะรัฐเอง จะมีวิธีการ แนวทาง หรือนโยบายอย่างไร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของเกษตรกรแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาพลักษณ์แบบเดิม ที่พอมองภาพเกษตรกรแล้วเห็นแต่ความยุ่งยาก เห็นแต่ความเหนื่อยล้า เห็นแต่ความเศร้าหมอง เห็นแต่ปัญหาต่างๆ แต่เป็นภาพที่ประมาณว่า เมื่อนึกถึงภาพอาชีพเกษตรแล้วเรามีความสุข นึกถึงแล้วอยากมีแปลงเกษตรเป็นของเราบ้าง นึกถึงภาพเกษตรกรแล้วเห็นแต่ความสุข รอยยิ้ม ทำการผลิตอย่างมีความสุขบนผืนแผ่นดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ท่านคิดเห็นอย่างไรบ้างครับในประเด็นนี้ ฟากรัฐคิดอย่างไรบ้างครับในประเด็นที่ผมกำลังพูดอยู่นี้ พอมีทางไหมครับ...
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 30 มกราคม 58
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.