หากจะกล่าวถึงปัญหาการไร้ที่ทำกิน เกษตรกรไทยแม้จะอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีมายาวนานกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนย่อย อย่าง พม่า ลาว และกัมพูชาก็ตาม แต่ปัญหาการสูญเสียที่ทำกิน และการถูกยึดแย่งที่ทำกินของเกษตรกรในประเทศไทย ก็มีสภาพไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคย่อยอาเซียนเท่าไหร่นัก
การสูญเสียที่ทำกินของเกษตรกรไทย มองในภาพรวมมีที่มาจาก 2 เหตุปัจจัยหลัก คือการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจแบบทุน ที่ต้องการใช้ที่ดินที่มากขึ้นเป็นปัจจัยการผลิต เช่น การปลูกพืชเชิงพาณิชย์ เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพื่อตอบสนองธุรกิจค้าข้าว ธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจพืชพลังงาน การตั้งโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม ที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ การสร้างโรงไฟฟ้า เขื่อน โรงงานเหมืองแร่ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
รวมไปถึงพัฒนาการของกฎหมาย นโยบายและการพัฒนา ที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการสูญเสียที่ทำกิน หรือการแย่งยึดที่ดินจากเกษตรกร เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการเก็งกำไรและกว้านซื้อที่ดิน การยกเลิกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่สาธารณะประโยชน์ ทับซ้อนบนที่ทำกินของชุมชน ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดีความและถูกอพยพออกจากพื้นที่ รวมไปถึงการให้สัมปทานเช่าพื้นที่ปาสงวนกับภาคธุรกิจที่นำไปสู่การคุกคามพื้นที่ชุมชน และนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า ที่ดำเนินการด้วยการอพยพคนจากพื้นที่ป่าและชุมชน เป็นต้น
เกษตรกรไทยแม้มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐและทุนได้อย่างเปิดเผย ก็ยังไม่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของทุนและโครงการพัฒนาของรัฐได้ นั่นเพราะสังคมไทยแม้จะอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยที่เห็นทุนเป็นใหญ่ และเห็นโครงการพัฒนาของรัฐ สำคัญมากกว่าความปกติสุขของประชาชน
ในขณะที่เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนย่อยอย่าง พม่า ลาว และกัมพูชา ก็มีสภาพการถูกแย่งยึดที่ดินไม่แตกต่างจากเกษตรกรไทย
ในประเทศพม่า แม้เคยมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม และเคยมีรัฐธรรมนูญที่มีมาตราว้าด้วยการคุ้มครองสิทธิชาวนาที่มีที่ดินขนาดเล็กไม่ให้สูญเสียที่ดิน ในปี พ.ศ. 2490 และมีกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนายทุนเงินกู้เชื้อสายอินเดียมาเป็นของรัฐเพื่อจัดสรรให้กับประชาชนในปี พ.ศ.2496
แต่ภายหลังจากมีการทำข้อตกลงหยุดยิง และเปิดประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมภายหลังปี 2538 และเปิดอย่างเต็มที่หลังปี 2553 เป็นต้นมา การแย่งยึดที่ดินของเกษตรกรด้วยวิธีการที่แข็งกร้าว และใช้กำลังทหารก็มีมากขึ้นตามลำดับ มีการเวนคืนที่ดินของเกษตรกรไปใช้ในโครงการของรัฐ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม เช่น ในรัฐมอญช่วงปี 2541-2545 เกษตรกรต้องสูญเสียที่ทำกินกว่า 1.5 หมื่นไร่ เนื่องจากการเวนคืนที่ดินของรัฐ หรือแม้แต่การให้สัมปทานการใช้ที่ดินกับบริษัทเอกชน 32 แห่ง ในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน กว่า 1.1 ล้านไร่ ซึ่งการให้สัมปทานการใช้ที่ดิน บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ซึ่งมีทั้งนายทุนจีน พม่า เกาหลี หรือแม้แต่ไทย มักนำที่ดินไปใช้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำเหมืองทอง ทองแดง หยก เหล็ก โครงการสำรวจก๊าซและน้ำมัน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมไปถึงการประกาศเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 30 ของประเทศ ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เคยอยู่อาศัยในชุมชนถูกขับไล่ และอพยพออกจากพื้นที่
ในประเทศลาว แม้จะปกครองในระบอบสังคมนิยม แต่ก็ได้มีการเปิดประเทศเพื่อรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ และเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ภายใต้โครงการจินตนาการใหม่ ซึ่งมีการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาชนบทลาวโดยใช้กลไกตลาด ลาวมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปี 2531 และปรับปรุงล่าสุดในปี 2549 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในชนบทลาวค่อนข้างมาก แม้ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ แต่รัฐบาลลาวเปิดโอกาสให้มีการสัมปทานเช่าที่ดินโดยนักลงทุนต่างชาติได้ยาวนานถึง 75 ปี การให้สัมปทานการเช่าที่ดินในพื้นที่ขนาดใหญ่ของนักลงทุนจากต่างชาติ ทั้ง เวียดนาม ไทย และจีน ทำให้เกิดทับซ้อนและการแย่งยึดที่ดินของเกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างแหล่งพลังงาน เขื่อน ในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็กำลังนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของเกษตรกรเช่นเดียวกัน
ในประเทศกัมพูชา หลายทศวรรษที่ผ่านมามีปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองมาโดยตลอด กัมพูชาเพิ่งจะมีกฎหมายที่ดินฉบับแรกในปี 2535 และฉบับล่าสุดในปี 2544 ในกฎหมายที่ดินฉบับที่สองนี่เอง ที่เปิดให้มีการสัมปทานการใช้ที่ดินและป่าไม้อย่างเต็มที่กับนักลงทุนภายในและต่างประเทศ ทั้งเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะยางพารา เหมืองแร่ ประมง อุตสาหกรรม และท่าเรือ (การให้สัมปทานการใช้ที่ดินและป่าไม้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) เนื่องจากกัมพูชายังมีระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนัก รัฐบาลยังมีการใช้อำนาจและความรุนแรงในการเวนคืน หรือแย่งยึดที่ดินมาจากประชาชนเพื่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ จนถึงปี 2550 มีบริษัทเอกชน 66 แห่ง ที่ได้รับสัมปทานการใช้ที่ดินในพื้นที่กว่า 6 ล้านไร่ ในกัมพูชา หรือแม้แต่กรณีล่าสุดปัจจุบันบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของไทยที่ไปลงทุนในเกาะกง ก็ถูกประชาชนชาวกัมพูชาร้องเรียนว่ามีการแย่งยึดที่ดินจากเกษตรกร ขับไล่เกษตรกรออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการที่แข็งกร้าวและละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อมองในภาพรวม สถานการณ์การถูกแย่งยึดจึงไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างเกษตรกรในประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ในทุกประเทศที่ดินกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญเพื่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อเปิดให้มีการลงทุนข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ทุนขนาดใหญ่จากประเทศจีน ไทย และเวียดนาม ได้กลายเป็นผู้ต้องการที่ดินรายใหญ่ในประเทศอย่าง พม่า ลาว และกัมพูชา
การที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยถูกผลักดันให้กลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงมาจากการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ละทิ้งคนชายขอบและเกษตรกรให้เป็นผู้ได้รับผลกระทบ
มาถึงบรรทัดนี้คงจะได้คำตอบแล้วว่า ไร้ความยุติธรรม หรือ ไร้ที่ทำกิน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 2 มกราคม 58
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.