การกล่าวถึงการกระจายการถือครองที่ดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ในวันศุกร์ที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ที่มีรายละเอียดว่ารู้สึกสงสารคนจน และเชื่อว่าถ้าไม่ลำบากก็คงไม่บุกรุกพื้นที่ป่า เมื่อบุกรุกแล้ว มักถูกคนรวยหรือเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเอาเปรียบ ทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่ม
และสังคมเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องช่วยกันหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา และต้องใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ร่วมกัน แสดงให้เห็นอีกนัยหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีกำลังพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาคนอยู่ในเขตป่า ด้วยวิธีการที่ไม่ได้ใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว
หากการกล่าวครั้งนี้มีความหมายอย่างที่พูดจริง ควรทบทวนให้มีการชะลอการปฏิบัติการตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่มีการอนุมัติโดย คสช. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ในระดับพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ นอกจากมีการจับกุมผู้ตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นนายทุนแล้ว ยังมีการจับกุมดำเนินคดีกับคนจนที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่า โดยไม่แยกแยะว่าคนเหล่านั้นอยู่มาก่อนหรืออยู่หลังการประกาศเขตป่า และไม่ได้ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าของคนจนอย่างที่ฝ่ายนโยบาย หรือนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแต่อย่างใด
การบุกรุกพื้นที่ป่าของคนจน เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก เพราะมีหลายเหตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินในมือของคนรวย ปัญหาความเหลื่อมล้ำคนจนใช้ที่ดินรัฐไม่ได้แต่ผู้มีอิทธิพลสามารถได้รับสัมปทานใช้ที่ดินจากรัฐ ปัญหาคนจนวิ่งตามนโยยายการปลูกพืชเศรษฐกิจ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีราคาสูงและหน่วยงานรัฐเคยส่งเสริม ที่สำคัญคือเกี่ยวโยงกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับที่สังคมไทยยังแกะไม่ออก แก้ไขไม่ได้
การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่ผ่านมาจึงไม่ได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และไม่นำไปสู่ความสำเร็จ ซ้ำร้ายเกือบทุกครั้งคนจนต้องกลายเป็นเหยื่อสังเวชนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการใช้เงื่อนไขเหล่านี้หาผลประโยชน์เข้าตัว หรือแม้แต่แก้แค้นชาวบ้านที่เคยขัดแย้งกัน
หากจะแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ รัฐควรเริ่มจากการศึกษาข้อมูลของแต่ละพื้นที่ให้ชัด และไม่ควรปูพรมทำทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกัน เพราะต้องยอมรับว่าหน่วยงานรัฐเองในระดับปฏิบัติการยังมีปัญหาประสิทธิภาพอยู่มาก เจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่เข้าใจพื้นที่ และไม่เข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน เมื่อไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจ จึงมักสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ แทนที่จะมีชาวบ้านช่วยเหลือเป็นเกราะป้องกันเพื่อรักษาป่าร่วมกัน เจ้าหน้าที่รัฐหลายแห่ง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับกลายเป็นศัตรูกับชาวบ้าน มีเรื่องขัดแย้งตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ ในบางพื้นที่ จับกุมแม้แต่ชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ จับหนู เก็บลูกหมาก ที่แค่มาบริโภคเท่านั้น
ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติการยังไม่รู้จักใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับหลักนิติศาสตร์ในการอยู่ร่วมกับชาวบ้าน แม้ฝ่ายนโยบายจะพูดถึงเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่เพราะไม่มีนโยบายที่ชัดเจนให้กับฝ่ายปฏิบัตินำไปดำเนินการ เจ้าหน้าที่ระดับล่างก็ยังคงจับกุมชาวบ้านในเรื่องเล็กๆน้อยๆ สร้างความขัดแย้งอยู่ต่อไป เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติยึดถือในหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มองอีกด้านหนึ่งจึงเหมือนฝ่ายนโยบายก็พูดไปอย่าง ฝ่ายปฏิบัติก็ทำไปอีกอย่าง การแก้ไขปัญหาจึงห่างไกลความจริง
การตั้งเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ ดูเผินๆ เหมือนว่าดี เพราะประเทศไหนไหน ก็ล้วนต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า คนเมืองที่เผชิญกับมลภาวะทุกวัน ก็อยากได้พื้นที่ป่าเพิ่ม เพื่อฟอกปอดหรือหลบเลี่ยงเมืองไปพักผ่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่ปัญหามันไม่ได้ง่ายเหมือนการชวนคนไปปลูกป่าชายเลน หรือทำกิจกรรมวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะแนวคิดการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยปราศจากคนและไม่ให้มีชุมชนท้องถิ่นอยู่อาศัยเลยนั้น เป็นแนวคิดที่อันตราย และไม่สอดคล้องกับวิถีชนบทดั้งเดิมของคนไทย ที่ป่าเคยมีชุมชนท้องถิ่นอยู่ร่วมและดูแลมาช้านาน ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีหมอยาสมุนไพร ความรู้แพทย์แผนไทย และหมอยาพื้นบ้าน ที่ล้วนต้องใช้ความรู้จากการคลุกคลีอยู่กับป่า รวมถึงองค์ความรู้ด้านอาหาร และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพในป่า ที่ล้วนตั้งต้นจากความรู้ของคนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าทั้งนั้น โดยเฉพาะแนวคิดการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ โดยไม่ใส่ใจว่าจะได้มาด้วยวิธีการใด ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ เพราะนั่นอาจหมายถึงการอพยพชุมชนเก่าและใหม่ออกจากพื้นที่ปาทั้งหมด สร้างความเดือดร้อนให้กับคนจนที่ทุกข์ยากอยู่แล้ว ให้ทุกข์ยากมากขึ้นไปอีก
การแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและความเป็นจริงของสังคมชนบทไทย บนหลักการการไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนจนและชุมชนท้องถิ่น แต่มุ่งจัดการกับปัญหาการลักลอบตัดไม้ของนายทุน และสะสางปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญควรเริ่มต้นจากการศึกษาพื้นที่ตัวอย่าง ที่เจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนท้องถิ่นทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า สามารถป้องปรามการตัดไม้ของนายทุน และลดการตัดไม้ทำลายป่าได้สำเร็จ ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย แล้วค่อยนำมาขยายผลต่อในพื้นที่อื่น
ที่สำคัญคือเมื่อฝ่ายนโยบายเข้าใจและสื่อสารดังๆ ออกมาให้ประชาชนรับรู้ในรายการ "คืนความสุขให้กับคนในชาติ" แล้ว จะมีการนำสารนี้ไปให้ฝ่ายปฏิบัติรับรู้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องรอดูผลงาน ติดตามกันต่อไป
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 23 มกราคม 58
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.