น่าเป็นห่วงนะครับว่า ณ วันนี้ชาวนาเป็นหนี้ท่วมหัวและสูงขึ้นทุกวัน ผมนั่งดูข้อมูลของจังหวัดอ่างทองกับจังหวัดชัยนาท ยังตกใจเลยครับ แค่ตัวเลขกลมๆ พบว่าชาวนาทั้งสองจังหวัดมีหนี้สินไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท จึงพบที่มาที่ไปครับว่า ทำไมชาวนาต้องมีแหล่งเงินกู้สำรองหลายๆ แหล่ง คำตอบก็คือ ชาวนาต้องกู้เงินจากแหล่งหนึ่ง เพื่อไปใช้หนี้ให้กับแหล่งเงินกู้อีกแหล่งครับ
ข้อมูลของชาวนาจังหวัดอ่างทองพบว่า ชาวนาส่วนใหญ่ต้องสร้างหนี้(กู้เงิน)จากสถาบันการเงินต่างๆ เฉลี่ยถึง 3 แหล่งต่อครอบครัว เพื่อใช้จ่ายสำหรับการลงทุนทำการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 44.6 โดยสถาบันเงินกู้ที่เกษตรกรพึ่งพามากที่สุดคือสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของจำนวนสัญญาเงินกู้ทั้งหมด
ขณะที่ข้อมูลของชาวนาจังหวัดชัยนาทพบว่าชาวนาร้อยละ 23.44 ต้องสร้างหนี้(กู้เงิน)จากสถาบันการเงินต่างๆ เฉลี่ยถึง 3 แหล่งต่อครอบครัว เพื่อใช้จ่ายสำหรับการลงทุนทำการเกษตรโดยสถาบันเงินกู้ที่เกษตรกรพึ่งพามากที่สุดคือกองทุนหมู่บ้าน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.6 ของจำนวนสัญญาเงินกู้ทั้งหมด
หากเราลองย้อนกลับไปพิจารณาดูในช่วงที่รัฐบาลมีการออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการรับจำนำข้าว และหากไม่คิดอะไรมากว่ารัฐบาลเอาเงินก้อนนี้มาจากไหนก็ถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการที่ทำให้ชาวนาได้พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างครับ เนื่องจากราคาข้าวที่ชาวนาน่าขายได้ในความเป็นจริงจะอยู่ที่ราวๆ 7,000-8,000 บาทต่อตัน(ราคาตลาดจริง) แต่เมื่อจากชาวนาได้รับการสนับสนุนจากโครงการ แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วชาวนาจะขายข้าวได้เพียง 13,000 บาทต่อตัน แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาข้าวจะขึ้นสูงหรือลดต่ำลงขนาดไหนก็ตามแต่ สิ่งที่ชาวนาต้องทำอยู่เป็นประจำทุกฤดูกาลผลิตคือ ชาวนาต้องหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาลงทุนล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แล้วค่อยนำเงินที่ได้จากการขายข้าวไปจ่ายคืนให้กับสถาบันเงินกู้แหล่งต่างๆ ที่มากกว่านั้นก็คือว่า การกู้เงินเพียงแหล่งเดียวคงไม่ใช่คำตอบสำหรับชาวนาครับ เพราะการลงทุนทำนาแต่ละครั้ง ชาวนาต้องคำนวณทุกครั้งว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอสำหรับการทำการผลิตในแต่ละฤดูกาลและเมื่อความสามารถ(เครดิต)ในการกู้เงินแหล่งเดียวไม่พอ ชาวนาก็ต้องหาแหล่งเงินกู้อื่นเพื่อเพียงพอสำหรับการลงทุน และมักจะเป็นแบบนั้นเสมอ
ประเด็นแรกที่ผมอยากชวนให้ลองคิดเล่นๆ คือว่า ทุกๆ ปี สถาบันเงินกู้ของรัฐ หรือแบบกึ่งรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน มักมีรายงานผลประกอบการออกมาว่า สบาบันเงินกู้นั้นๆ มีผลการประกอบการเป็นยอดเงินจำนวนมหาศาลทุกปี คำถามผมคือว่า แล้วยอดเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวนี้คือยอดเงินที่เป็นดอกผลที่เกิดจากยอดเงินกู้ของชาวนาใช่หรือไม่
ประเด็นที่สองนี้อยากฝากไปถึงฝ่ายบริหารบ้านเมืองเราครับว่ารัฐบาลกล้าพอไหมที่จะหามาตรการช่วยเหลือชาวนาเรื่องสถาบันเงินกู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น สถาบันเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือสถาบันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนาได้กู้โดยไม่ต้องเดือดร้อนกับภาระดอกเบี้ยมากไปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับหามาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้เข้ามาช่วยเหลือชาวนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนหรือมาตรการอื่นๆ ที่จะเป็นแนวทางที่ดีที่ทำให้หนี้สินของชาวนาได้ลดต่ำลง และปลอดหนี้ได้เลยก็ยิ่งจะดีไม่น้อย....อย่าคิดว่าผมสนับสนุนให้ชาวนาเป็นหนี้หละ ไม่แน่นอนครับ เพียงแต่คิดว่าทางออกของชาวนาที่เป็นหนี้ท่วมหัวทุกวันนี้พอจะมีแนวทางไหนบ้างเท่านั้น และแนวทางที่ผมนำเสนอคงไม่ใช่คำตอบแบบสำเร็จรูปทางเดียว แต่อาจเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งเท่านั้น
ทั้งสองประเด็นนี้ฝากเอาไว้ให้ลองพิจารณาครับ
ตีพิมพ์ 9 มค 58
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.