เรื่องโลกร้อนถือเป็นปัญหาสำคัญร่วมกันของพวกเราทุกคนบนโลกใบนี้ ล่าสุดพึ่งจะมีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 20 (COP20) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 195 ประเทศเข้าร่วมการประชุม จัดขึ้น ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู ระหว่างวันที่ 1-14 ธันวาคม 2557
โดยวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ แต่ละประเทศจะต้องแถลงถึงการดำเนินการในการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยต้องควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ภายในปี 2563
จากรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่าในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิบนโลกสูงขึ้นกว่า 4 องศาเซลเซียส โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จนอาจส่งผลทำให้ผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ มีความรุนแรงมากขึ้น
การประชุมยาวนานถึง 14 วัน ครั้งนี้ จบลงด้วยเพียงเอกสารข้อตกลงแบบหลวมๆ เรื่องการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นกลไกร่วมกันในเรื่อง ขอบเขตของแผนยุทธศาสตร์ชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก จึงต้องยกประเด็นดังกล่าวไปหารือกันต่อในการประชุมครั้งต่อไป ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม 2558
สำหรับข้อถกเถียงหลักที่ทำให้การเจรจาครั้งนี้ยืดเยื้อคือ ประเทศกำลังพัฒนายืนยันจุดยืนให้ประเทศร่ำรวยต้องรับภาระลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าชาติกำลังพัฒนา เพราะได้ก่อมลภาวะมานานกว่า และต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการปรับตัวแก่ประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ประเทศร่ำรวยกล่าวโทษประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียว่าเผาถ่านหินกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ควรต้องรับผิดชอบมากเช่นกัน
ในครั้งนี้ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้แถลงเป้าหมายตัวเลขปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศลงร้อยละ 7-20 (ร้อยละ 7 ภายในปี 2563 ในภาวะปกติ และ ร้อยละ 20 หากมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศ) ซึ่งมาจาก(ร่าง)แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2557 - 2593 หรือเรียกสั้นๆ ว่าแผนแม่บทโลกร้อน แผนแม่บทฉบับนี้ นอกจากตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและภาคพลังงานให้ได้ร้อยละ 7-20 แล้ว ยังมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ครอบคลุมร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2563 อีกด้วย
แต่เมื่อย้อนกลับไปดูที่นโยบายเรื่องพลังงานถ่านหินของรัฐบาล กลับพบว่ารัฐมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเพิ่มอีก 10,000 เมกะวัตต์ บนเหตุผลที่ว่า พลังงานถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกและต้องการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การเพิ่มปริมาณการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นเหตุก่อภาวะโลกร้อน จึงสวนทางกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยที่ตั้งเป้าไว้โดยสิ้นเชิง
นอกจาก(ร่าง)แผนแม่บทโลกร้อน ที่เขียนขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยยังมีแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่มีเป้าหมายเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย จากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ภายใต้ยุทธการทวงคืนผืนป่า ให้มีพื้นที่ร้อยละ 40 ของประเทศ
เป้าหมายการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐ ถือเป็นเจตนาดีต่อสังคมโดยรวม เพราะปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่า ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการเรื่องนี้กลับสร้างปัญหาเดือดร้อนและส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านและชุมชนจำนวนมากที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมของตนเองและถูกประกาศเขตป่าทับที่
ดังกรณีตัวอย่างชาวบ้านและชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ถูกไล่รื้อ ถูกอพยพ ถูกทำลายพืชผลอาสิน และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น การถูกคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ของชาวบ้านชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวน 36 ครอบครัว และชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวน 56 ครอบครัว การถูกอพยพออกจากพื้นที่ของชาวบ้านชุมชนบ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 33 ครอบครัว (ที่มา: กลุ่มศึกษาปัญหาป่าไม้ที่ดินภาคอีสาน) รวมถึงการทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านห้วยหกจำนวน 15 ครอบครัว ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เผ่าลีซู อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานห้วยน้ำดังตัดฟันไร่ข้าวและไร่ข้าวโพด (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ) และการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีของชาวบ้านด่านเม็ก อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 19 ราย และชาวบ้าน ต.คอโค และ ต.ตระแสง อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวน 45 ราย (ที่มา: กลุ่มศึกษาปัญหาป่าไม้ที่ดินภาคอีสาน )
การเพิ่มพื้นที่ป่าและการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า เป็นเพียงแผนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก แต่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน หัวใจสำคัญต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญการขับไล่คนและชุมชนออกจากป่า โดยหวังผลเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่านั้น ไม่ควรเป็นแนวทางในการดำเนินการของภาครัฐ และไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา อาจจะให้ผลในทางตรงกันข้ามก็เป็นได้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.