ข้อกังวลที่มักเกิดขึ้นในใจเสมอ สำหรับเกษตรกรผู้ที่เติบโตมากับครอบครัวที่ทำนาเคมีมาตั้งแต่เกิด แล้วอยู่ๆ จะให้เปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“ทำนาอินทรีย์แล้วจะรอดเหรอ ทำนาอินทรีย์คงไม่ได้ผลแน่ แล้วถ้าทำไม่ได้ผลหละ หนี้บานแน่” หากจะบอกว่าข้อกังวลข้างต้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวนาลังเลที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนา จากนาเคมีเข้มข้นมาเป็นนาแบบอินทรีย์ ก็คงไม่ไกลความจริงมากนัก เนื่องจากความคุ้นเคยของชาวนากับการใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชในแปลงนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำให้รู้สึกว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องธรรมดา ไปจนถึงมองข้ามผลร้ายที่บั่นทอนสุขภาพ และภัยร้ายหนี้สิน ที่คุกคามเศรษฐกิจครอบครัว
สองวันก่อน ผมไปคุยกับชาวนาอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีมา ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากครับ คนทำนาที่นั่นแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำนาเคมี กลุ่มที่ทำนาอินทรีย์ และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ พอคุยแล้วมีเหตุผลที่หลากหลายที่ทำให้ชาวนากลุ่มหลังนี้อยากเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เกินความคาดหมายนิดหน่อยครับ เพราะหลายเหตุผลผมคิดแทบไม่ถึงเลย
เหตุผลที่ทำให้ชาวนากลุ่มนี้ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนามีหลายเหตุผลครับ เช่น อยากทำนาอินทรีย์เพื่อเอาข้าวมาสีเป็นข้าวสารขายเอง เนื่องจากตอนนี้ข้าวเปลือกราคาถูกเอามากๆ การทำข้าวอินทรีย์ขาย น่าจะเป็นคำตอบทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือ อยากเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ เพราะเป็นคนที่ชอบความท้าทาย ชาวนาบางส่วนให้เหตุผลว่า ไม่กล้าเสี่ยงเท่าไหร่นัก จึงใช้วิธีการแบ่งที่นาบางส่วน มาทดลองทำนาแบบอินทรีย์เป็นแปลงนำร่องก่อน หรือชาวนาบางคนก็ให้เหตุผลว่า อยากเปลี่ยนเนื่องจากป่วยบ่อย มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากนาเคมีไปเป็นนาอินทรีย์ สิ่งที่ชาวนาสุพรรณบุรีเห็นตรงกันว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลมากที่สุดคือ การค่อยๆ ลดพื้นที่ทำนาเคมี แล้วค่อยๆ เพิ่มพื้นที่นาอินทรีย์ให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุด ค่อยปรับแปลงนาทั้งหมดให้กลายเป็นแปลงนาอินทรีย์
ต้นทุนการผลิตของชาวนาอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตมาเป็นนาอินทรีย์ ถือว่าต่ำกว่าชาวนาที่ทำนาแบบเคมีค่อนข้างมาก เหตุผลสำคัญเพราะชาวนากลุ่มนี้ใช้แรงงานภายในครอบครัวตัวเองในกระบวนการทำนาเป็นหลัก ดังนั้นค่าจ้างแรงงานต่างๆ เช่น ค่าจ้างหว่านข้าว ค่าจ้างฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช ค่าจ้างใส่ปุ๋ย ค่าจ้างตัดข้าวดีด ค่าจ้างสูบน้ำเข้านา จึงไม่ต้องจ่าย หรือแม้กระทั่งค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ที่ชาวนาส่วนใหญ่ของภาคกลางต้องจ่ายสูงถึง 500 บาทต่อไร่ แต่ชาวนากลุ่มที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตมาเป็นนาอินทรีย์นี้ จะใช้วิธีการเกี่ยวข้าวด้วยมือ และฟื้นฟูระบบแลกเปลี่ยนแรงงานเข้าช่วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต การทำนาระบบอินทรีย์นี้ จะให้ได้ผลดีจึงต้องทำแบบรวมกันเป็นกลุ่ม
เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตระหว่างชาวนา 3 กลุ่ม คือ ชาวนาที่ทำนาเคมี ชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ และชาวนาที่ทำนาเคมีผสมกับนาอินทรีย์(กลุ่มที่เริ่มปรับเปลี่ยน โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนทำนาอินทรีย์) พบว่า ชาวนาที่ทำนาเคมี กรณีศึกษานางแตง ปั่นหว่าง มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 7,350 บาทต่อไร่ ชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ กรณีนางกนกพร ดิษฐกระจันทร์ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,670 บาทต่อไร่ ขณะที่ชาวนากลุ่มที่ทำแบบผสมเคมีและอินทรีย์ กรณีนางสาววลี ศรีไพบูรณ์ทรัพย์ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,530 บาทต่อไร่
เมื่อมองแบบรวมๆ จะเห็นว่า การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจากว่าชาวนาที่สุพรรณบุรีมีรูปธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเกิดขึ้นจริง แถมยังเป็นการค่อยๆ ลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยลงอีกด้วย
ในตอนท้ายของบทสนทนา ชาวนาที่นี่บอกผมว่า “หากเราค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยนจากนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ ต้นทุนการทำนาของเราก็จะค่อยๆ ลด เมื่อต้นทุนการทำนาลดลง ตอนขายข้าวได้ก็ย่อมมีกำไรมากขึ้น ภัยคุกคามเศรษฐกิจ หนี้สินที่มีอยู่ ก็ย่อมค่อยๆ ลดลงเช่นกัน” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ให้ผลตอบแทนชีวิตที่คุ้มค่า คือบทสรุปสุดท้ายสำหรับชาวนาที่คิดได้แล้วครับ
เผยแพร่ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 19 ธันวาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.