คนที่มีอาชีพชาวนา คงจะหนักใจอยู่ไม่น้อยกับท่าทีของรัฐบาลปัจจุบันที่จู่ๆ ก็อยากจะจ้างให้เลิกอาชีพทำนา ทั้งที่คนในสังคมไทยรู้ดีว่าอาชีพชาวนาสืบสานกับมาหลายชั่วคนในสังคมเกษตรกรรมไทย
เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ตอนที่ชาวนายังปลูกข้าว ปลูกผัก และทำเกษตรแบบยังชีพ ก็รัฐบาลในยุคสมัยนั้นอีกเช่นกัน ที่สนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวปริมาณที่มากขึ้น เอาพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ไปให้ ทำระบบชลประทานให้น้ำเข้าถึง และสนับสนุนให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อจะได้มีเงินซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวนาเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าว เพราะตอนนั้นรัฐบาลต้องการผลผลิตข้าวเพื่อส่งออกต่างประเทศ
มาถึงวันนี้ ผลผลิตข้าวที่ชาวนาผลิตออกสู่ตลาดกลับพบว่ามีปริมาณมากเกินไป และรัฐบาลต้องการให้ชาวนาบางส่วนเลิกอาชีพทำนา ว่ากันง่ายๆ ซะแบบนั้นเลย (ปัจจุบันประเทศไทยผลิตข้าวได้ประมาณ 38 ล้านตันข้าวเปลือก)
คำถามสำคัญคือถ้าเลิกอาชีพทำนา มีหลักประกันอะไรสำหรับชาวนา ที่จะมีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว แถมยังมีหนี้สินกับ ธ.ก.ส. เจ้าหนี้นอกระบบ และเถ้าแก่ร้านปุ๋ยยาอีก ซึ่งถ้าไม่ทำนาปลูกข้าว เขาก็ไม่ให้กู้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว
ลองหันมาทบทวนเศรษฐกิจของชาวนาปัจจุบันดูบ้าง งานศึกษาภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของชาวนาอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ชี้ว่าชาวนายังต้องพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรม ถึงแม้จะมีอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร แต่รายได้ของชาวนายังอยู่ในระดับที่ต่ำ คือชาวนาร้อยละ 42 มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาท ต่อปี โดยมีรายได้จากภาคเกษตร ในสัดส่วนร้อยละ 56 และรายได้นอกภาคเกษตรร้อยละ 44 ทั้งนี้ชาวนาที่ทำนาเฉพาะในที่ดินตนเองซึ่งมีอยู่เฉลี่ยไม่ถึง 10 ไร่ จะมีรายได้เฉลี่ย 156,371.43 บาท ต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้างหากเช่าที่ดินคนอื่นทำนาเพิ่ม
ชาวนาของอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง มีรายจ่ายเฉลี่ย 7,346.25 บาทต่อเดือน ในส่วนนี้มีรายจ่ายค่าอาหารมากที่สุดคือร้อยละ 41 รองลงมาของค่าใช้จ่ายคือค่าเล่าเรียนลูก ร้อยละ 17 ที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงเพราะชาวนาภาคกลางซื้ออาหารบริโภคมากกว่าการเก็บพืชผักจากไร่นา ที่น่าตกใจและควรเร่งแก้ไขคือ มีชาวนาถึงร้อยละ 86 ซื้อข้าวสารจากภายนอกมาบริโภคในระดับมากถึงปานกลาง และมีชาวนาเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น ที่เก็บข้าวไว้บริโภคและไม่ได้ซื้อข้าวจากภายนอกเลย
การสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวปริมาณที่มากเพื่อส่งออกต่างประเทศตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบันแล้วว่า ทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งผลิตข้าวเพื่อขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคเองอีกต่อไป
เมื่อย้อนกลับมาดูฐานทรัพยากรที่ดิน ต้นทุนการทำนาในอนาคต พบว่าชาวนาโดยส่วนใหญ่ถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 5 ไร่ เท่านั้น โดยมีชาวนาถึงร้อยละ 68 ที่มีที่ทำกินไม่ถึง 10 ไร่
นอกจากนั้นยังพบว่าชาวนา ร้อยละ 30 ต้องเช่าที่นาเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นการเช่าจากนายทุนต่างพื้นที่ โดยเฉลี่ยเช่าทำนาเพิ่มครอบครัวละ 11 ไร่ ส่วนใหญ่เช่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี รายที่เช่าที่ดินทำนาเพิ่ม นานที่สุดคือ 20 ปี ทำให้เห็นว่าชาวนาในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดิน มาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี และยังไม่มีการแก้ไข
เศรษฐกิจของชาวนาในภาวะปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว มีชาวนาหลายรายที่ต้องสูญเสียที่ดินเพราะปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว โดยชาวนาร้อยละ 50 ตัดสินใจขายที่นาเพื่อนำเงินมาปลดหนี้ อีกร้อยละ 30 ถูกเจ้าหนี้นอกระบบยึดที่นาเพื่อใช้หนี้แทน อีกร้อยละ 10 ขายที่นาเนื่องจากไม่มีทางเข้าออก และร้อยละ 10 ขายที่นาเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว
ที่น่าวิตกคือเงินกู้ที่ชาวนากู้ยืมจาก ธ.ก.ส. และแหล่งเงินกู้ต่างๆ มีเพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่นำมาลงทุนทางการเกษตรเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่อง แต่เงินกู้ร้อยละ 64 ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล ซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งร้อยละ 20 ของเงินกู้ต้องไปใช้หนี้ก้อนเดิม เศรษฐกิจของชาวนาจึงอยู่ได้เพราะเงินกู้หมุนเวียน กู้หนี้ก้อนใหม่มาใช้หนี้ก้อนเก่าและหมุนเวียนใช้ในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ จึงไม่ใช่การผลักดันให้ชาวนาปลูกข้าวในปริมาณที่มากขึ้นเมื่อตลาดต้องการ และผลักไสให้ชาวนาเลิกผลิตข้าวเมื่อตลาดมีผลผลิตล้นเกิน เพราะทำเช่นนั้นก็เท่ากับว่าเห็นชาวนาเป็นแค่ฟันเฟืองในตลาดธุรกิจการค้าข้าว เมื่อไม่ต้องการก็ผลักไสให้ไปอยู่ในธุรกิจพืชพลังงานแทน
สิ่งที่รัฐบาลควรใส่ใจคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาวนาให้เข้มแข็งขึ้นและยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี การส่งเสริมให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวบางส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่พืชอาหารและพืชที่สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี น่าจะกระจายความเสี่ยงจากการปลูกข้าวพียงอย่างเดียวได้ดี ยังมีประเด็นอื่นที่ควรใสใจอีกมาก ทั้งการลดค่าใช้จ่าย การขาดแคลนที่ทำกินและปัญหาหนี้สิน แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้เมื่อรัฐบาลมองเห็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาวนาเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ซ้ำเติม มองชาวนาเป็นแค่ฟันเฟืองของเศรษฐกิจตลาดเท่านั้น
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.