ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวการจ้างชาวนาให้เลิกปลูกข้าว โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ไร่ละ 2,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาปริมาณข้าวในตลาดที่ล้นเกิน และเพื่อทำให้ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น (ไทยรัฐออนไลน์.26 มิ.ย. 2557) ในขณะที่ภาคส่วนอื่นของสังคมมีความเห็นว่า ภาคเกษตรจะเป็นที่พึ่งของระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ดี ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ตรงจุด
งานวิจัยภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรโดยกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ปี พ.ศ.2557 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกษตรกรเป็นหนี้ เกิดจากความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อลงทุนการเกษตร และการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเกษตรกรใช้เงินกู้ร้อยละ 36 เพื่อลงทุนทางการเกษตร และใช้เงินกู้อีกร้อยละ 64 เพื่อใช้หนี้เก่า ค่าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ค่าเล่าเรียนลูก และค่ารักษาพยาบาล
เกษตรกรต้องอาศัยทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบและนอกระบบถึง 3 แหล่งในเวลาเดียวกัน โดยแหล่งเงินกู้ในระบบคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร ส่วนแหล่งเงินกู้นอกระบบคือ ร้านค้าปุ๋ยและยา ญาติ เพื่อนบ้าน และเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยกู้โดยตรง ในจังหวัดชัยนาท ชาวนามีหนี้ในระบบ 445,635 บาท และมีหนี้นอกระบบ 52,966 บาท เห็นได้ว่าชาวนาพึ่งแหล่งเงินกู้ในระบบมากกว่าแหล่งเงินกู้นอกระบบ ในสัดส่วน 89 :11 และหากเปรียบเทียบหนี้สินของชาวนากับรายได้ต่อเดือน จะพบว่าชาวนามีหนี้สินมากกว่ารายได้ถึง 29 เท่า ในขณะที่ชาวนาจังหวัดอยุธยามีสัดส่วนหนี้สินมากกว่ารายได้สูงที่สุดคือ 45 เท่า
สถานการณ์หนี้ท่วมของชาวนาที่เป็นอยู่ ทำให้ชาวนามีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะผิดนัดชำระหนี้ ถูกฟ้องร้อง เพื่อให้ขายที่ดินทอดตลาด ขณะที่ในจังหวัดชัยนาทมีชาวนาร้อยละ 32 สูญเสียที่ดินไปแล้ว ทั้งจากการขายที่ดินเพื่อปลดหนี้ ถูกยึดที่ดินจากสถาบันการเงิน และนายทุนเงินกู้นอกระบบ
แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน เกษตรกรบางกลุ่มได้อาศัยช่องทางของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อให้ชะลอการฟ้องร้อง บังคับคดี และการประกาศขายที่ดินทอดตลาด จากข้อมูลล่าสุดของกองทุนฟื้นฟู มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูทั้งหมด 501,880 ราย โดยเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกลุ่มใหญ่สุดจำนวน 283,432 ราย มีหนี้กับ ธ.ก.ส. และมีโอกาสสูญเสียที่ดิน
ในแง่ของผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึง กรกฎาคม 2557 กองทุนฟื้นฟูสามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้ 28,304 ราย การซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ไปขึ้นทะเบียน เนื่องจากการดำเนินงานมีความล่าช้าและไม่มีความแน่นอนว่าเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ กระนั้นก็ตามกองทุนฟื้นฟูยังคงเป็นความหวังของเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ต้องการรักษาที่ดิน และประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐพยายามใช้มาตรการเยียวยา แก้ไขปัญหาหนี้สิน แต่เน้นที่ปลายเหตุ โดยอาจมีแนวคิดว่า เส้นทางของสินเชื่อควรปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของสถาบันการเงินและเกษตรกร เพราะมองว่าหนี้สินเป็นปัญหาเชิงปัจเจก คนที่เป็นผู้ก่อหนี้ควรเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินของตนเอง แต่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรก็วนกลับมาที่หน่วยงานภาครัฐและสังคมโดยรวมอยู่ดี การดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุที่ผ่านมาจึงไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะว่านโยบายรัฐไม่ได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและโครงสร้าง
การปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรจึงต้องทำทั้งระบบ ควรสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการทำนาเคมีมาสู่การทำนาอินทรีย์ หรือการทำนาแบบลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชาวนาและผู้บริโภค ควรปฏิรูปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้มีทิศทางสนับสนุนการทำนาแบบอินทรีย์ มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่สำหรับเกษตรกร รวมถึงเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ โดยไม่มีการยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกรอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ส่วนหนี้สินกับแหล่งเงินกู้อื่น ควรโอนย้ายหนี้ในระบบและนอกระบบของเกษตรกรมาที่กองทุนฟื้นฟู เพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรซึ่งกำลังจะหลุดมือไปสู่สถาบันการเงินและนายหน้าค้าที่ดิน ทั้งนี้ควรมีการปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งมีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดซื้อหนี้ของเกษตรกร
ภาคเกษตรกรรมคือเศรษฐกิจฐานรากที่เลี้ยงดูคนจำนวนมากที่อยู่ในฐานะยากจนของสังคม การจ้างให้เลิกทำอาชีพทำนาหรือเลิกอาชีพเกษตรกรรม จะทำให้เกษตรกรจำนวนมากไร้ที่พึ่ง ไร้อาชีพ และไร้อนาคต การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการปฏิรูปกลไกและโครงสร้างภาคเกษตรกรรม ที่จะทำให้ชาวนากลับมามีเศรษฐกิจที่ยืนด้วยขาตนเองได้อีกครั้งนั่นเอง
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม www.landactionthai.org, www.facebook.org/Lcoal Act) ขอบคุณข้อมูลจาก รายงานวิจัยความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน เขมรัฐ เถลิงศรี ธีรสุวรรณจักร 2557 รายงานวิจัยภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร อารีวรรณ คูสันเทียะ เมธี สิงห์สู่ถ้ำ 2557 เอกสารแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาทั้งระบบ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.