ปัญหาที่ดินทำกิน เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญและถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ที่ผ่านมามีขบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องเกษตรกร ชาวนาชาวไร่จำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยเฉพาะการสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นายทุน เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2514 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 40 กว่าปีมาแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สำเร็จ และดูเหมือนว่าปัญหาที่ดินกลับยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นโจทย์หินที่รัฐบาลทุกยุคสมัยพยายามแก้ไข ซึ่งแม้แตกต่างกันบ้าง แต่ในเชิงหลักการแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือทุกรัฐบาลต่างพุ่งเป้าไปที่การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ ทั้งรูปแบบการให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินแบบพิเศษ การให้สิทธิใช้ที่ดินแบบมีเงื่อนไข ในรูปแบบ สปก. สทก. การให้สิทธิเช่าที่ดินราคาถูก หรือให้เช่าซื้อและผ่อนส่งระยะยาว โดยนำที่ดินของรัฐ ทั้งที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกร แต่กลับไม่มีรัฐบาลใดกล้าแตะไปถึงต้นเหตุสำคัญของปัญหา นั่นคือการกระจุกตัวของที่ดินในสังคมไทย
แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นทิศทางไม่ต่างจากเดิมมากนัก ดูได้จากผลการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติครั้งที่ 1 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2557 ได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน 3 ด้าน ได้แก่ 1.อนุกรรมการจัดหาที่ดิน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน มีหน้าที่จัดหาที่ดินให้คนยากจนทำกิน 2. อนุกรรมการจัดที่ดิน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีหน้าที่จัดคนลงพื้นที่หลังจากคณะที่ 1 จัดหาพื้นที่แล้ว 3.อนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าพื้นที่ไหนควรจะทำอาชีพอะไรจึงจะเหมาะสม และจะทำหน้าที่จัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจะไม่มอบให้เป็นสิทธิรายบุคคล แต่จะมีการจัดหาระบบใหม่ เช่น การใช้ระบบสหกรณ์หรือระบบอื่น (สยามรัฐ วันที่ 10 พ.ย. 2557) จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแก้ปัญหาการถือครองที่ดินที่ผ่านมาของสังคมไทย เรายังไปไม่ถึงการปฏิรูปที่ดิน เราเพียงแค่เอาที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินและคนยากไร้เท่านั้น
นอกจากจะไปไม่ถึงการปฏิรูปที่ดินแล้ว ที่มากไปกว่านั้นคือการผลักดัน หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทำกินเดิมซึ่งรัฐประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่า เป็นการอพยพคนจนผ่านยุทธศาสตร์ "ทวงคืนผืนป่า" ซึ่งขณะนี้ได้สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบกับเกษตรกรและชุมชนในเขตป่าจำนวนมาก และอาจจะซ้ำรอยเดิมกับโครงการ คจก. (โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) เมื่อปี พ.ศ.2534 ที่เคยมีบทเรียนความล้มเหลวมาแล้ว
หากตั้งโจทย์ผิด ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข สมการปัญหาใหญ่การไร้ที่ทำกินของเกษตรกร คือการกระจายการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ปัจจุบันมีเกษตรกรร้อยละ 42 หรือ 1.72 ล้านครัวเรือน ไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ดินแต่ไม่เพียงพอและต้องเช่า (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2549) ในขณะที่มีเกษตรกรทั่วประเทศที่ต้องเช่าที่ดินถึง 2.6 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 45 ของเกษตรกรทั้งหมด (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2554) ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศเกษตรกรรมที่ต้องการเป็นครัวโลก
ผลการศึกษาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ปี 2555 ของดวงมณี เลาวกุล พบว่า จากพื้นที่ถือครองที่มีเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศจำนวน 130 ล้านไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนด 95 ล้านไร่ จำนวนเพียง 15.9 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 24 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากรอีกร้อยละ 76 ไม่ได้รับสิทธิ์การถือครองที่ดินที่มั่นคง ผู้ถือครองบางรายครอบครองที่ดินถึง 6 แสนไร่ ในขณะที่บริษัทที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางแห่ง มีสัดส่วนรายได้จากค่าเช่าถึงร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด
งานศึกษาประวัติศาสตร์การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร ของปิยาพร อรุณพงษ์ กล่าวถึงการครอบครองที่ดินในอดีตไว้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 เมื่อเริ่มมีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนเกิดขึ้น บรรดาชนชั้นสูงต่างเข้ายึดครองที่ดินส่วนใหญ่ที่เหมาะกับการเพาะปลูกไว้เป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาด โดยมีคำกล่าวของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ว่า "....กิจกรรมที่เหมาะที่สุดสำหรับขุนนางที่ต้องการยึดเป็นอาชีพมาเลี้ยงชีวิตหรือเพื่อลงทุนนั้น ยากที่จะหาอะไรดีไปกว่ากิจการด้านที่ดิน และผลประโยชน์จากที่ดินนั้นจะหาอะไรดีไปกว่าการให้เช่าที่ดินแก่ชาวนาเป็นไม่มี..." (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสาร ร.5 กษ. เพาะปลูก เล่มที่ 15/25 18 ตุลาคม – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452.)
ชี้ให้เห็นว่าจากอดีตถึงปัจจุบันปัญหาการกระจุกตัวของการครอบครองที่ดิน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการไร้ที่ทำกินของเกษตรกร เป้าหมายการยึดครองที่ดินของนายทุนปัจจุบัน อาจไม่ใช่เพื่อให้เกษตรกรเช่าทำกินเช่นในอดีต แต่เพื่อเก็งกำไรและลงทุนด้านธุรกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว มีลักษณะเก็บสะสมทั้งที่ดินแปลงเล็ก แปลงใหญ่ ที่ดินเปล่า ที่ทำการเกษตร ที่นา ที่ไร่ กระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ปัญหาไร้ที่ทำกิน หากคิดจะแก้ไขด้วยการเอาที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้เกษตรกร จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอ เพราะไม่ได้แก้ไขที่หัวใจสำคัญคือการกระจุกตัวของการครอบครองที่ดินในมือเอกชน
แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความจริงใจและความกล้าหาญของรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย คือการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าและขนาดการถือครองที่ดิน รวมไปถึงการมีกฎหมายกำหนดเพดานการถือครองที่ดินสูงสุดของเอกชนแต่ละราย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนถือครองที่ดินมากจนเกินไปจนส่งผลกระทบกับคนไร้ที่ดิน และเพื่อกระตุ้นให้เอกชนที่เก็บสะสมที่ดิน และเก็งกำไรที่ดินไว้จำนวนมาก มีต้นทุนการถือครองที่ดิน สูงจนนำไปสู่จุดที่ต้องปล่อยที่ดินออกมา ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถนำที่ดินเหล่านั้นมาปฏิรูป และทำให้เกษตรกรและคนไร้ที่ดินสามารถเข้าถึงที่ดินได้ง่ายและมีความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.