ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสติดรถของเพื่อนผมคนหนึ่งมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรี เพื่อสัมภาษณ์ชาวนาจากกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองสุพรรณบุรี เกษตรกรกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำนา จากนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับชาวนาทั่วไป แต่ชาวนากลุ่มนี้ทำได้และใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน 5 ปี ปัจจุบันกลุ่มมีศูนย์ประสานงานอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และมีสมาชิกกลุ่ม 47 ครอบครัว
กนกพร ดิษฐกระจันทร์ แกนนำกลุ่ม เล่าให้ฟังว่าเดิมทีครอบครัวตัวเองมีหนี้สินติดตัวไม่น้อย เป็นหนี้ที่รับช่วงต่อมาตั้งแต่รุ่นพ่อ สมัยนั้นเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งมีหนี้สินได้รวมตัวกันตั้งเป็น "กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองสุพรรณบุรี" และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของชาวนา
ปัจจุบันแม้ครอบครัวของกนกพรจะยังไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่ได้ทั้งหมด แต่หนี้สินที่มีอยู่ค่อยๆ ลดลง และมีแนวโน้มว่าจะใช้ได้หมดในที่สุด รวมทั้งคลายกังวลจากปัญหาที่ดินที่อาจจะหลุดมือซึ่งก่อนหน้าเธอไม่ค่อยมั่นใจ
กนกพรเริ่มมีแนวคิดการทำนาอินทรีย์ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากได้เข้าร่วมอบรมการทำนาอินทรีย์กับมูลนิธิข้าวขวัญ หลังจากนั้นได้กลับมาทดลองทำในแปลงนาของตัวเองประมาณ 10 ไร่ทดลองอยู่หลายรอบจนประสบความสำเร็จ นาข้าวได้ผลผลิตดีเป็นที่น่าพอใจ ได้ข้าว 700 กิโลกรัมต่อไร่ แถมต้นทุนยังถูกกว่าการทำนาเคมีประมาณครึ่งต่อครึ่งอีกด้วย
หลังจากนั้นกนกพรได้เริ่มชักชวนสมาชิกในกลุ่มให้หันมาทดลองทำนาอินทรีย์ แปรรูปและวางแผนการตลาดข้าวอินทรีย์ร่วมกัน ปัจจุบันถือว่าการทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มทั้ง 47 ครอบครัวที่เคยทำนาเคมี ได้หันมาทำนาอินทรีย์กันทั้งหมด
กนกพร เล่าให้ฟังว่าภายหลังจากปรับเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ เธอมองเห็นข้อดี 4 ประการเกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่ม ประการแรกสมาชิกกลุ่มสามารถคัดเลือกพันธุ์ข้าวได้ โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์และแปรรูปขาย 8 สายพันธุ์ คือ ข้าวปทุมเทพ ข้าวหอมสุพรรณแท้ ข้าวหอมมะลิเตี้ย ข้าวหอมนางมล ข้าวหอมนิลต้นเขียว (เมื่อหุงเป็นข้าวสวยจะนิ่มกว่าข้าวหอมนิลต้นม่วง) ข้าวหอมสนั่นทุ่ง(ข้าวขาวตาเคลือบ) ข้าวเหลืองอ่อน และข้าวหอมมะลิ 105 โดยที่กลุ่มสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เอง ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกทุกปี ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก
ประการที่สอง ข้าวที่สมาชิกลุ่มปลูกทั้ง 8 สายพันธุ์ ยังสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการขายข้าวเปลือกเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากกลุ่มนำข้าวมาแปรรูปและขายตรงให้กับผู้บริโภค ประการที่สามที่สำคัญมากคือ พร้อมๆ กับการทดลองทำนาอินทรีย์ สมาชิกกลุ่มเริ่มมั่นใจที่จะปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เป็นจำนวนมาก สมาชิกเริ่มมีเงินเก็บสะสมสำหรับการนำไปปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่กับสถาบันเงินกู้ และข้อดีประการสุดท้ายคือการทดลองทำนาอินทรีย์ของกลุ่ม ทำให้ความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินของสมาชิกกลุ่มค่อยๆ ลดน้อยถอยลง
มาถึงตรงนี้ ผมคงสรุปแบบห้วนๆ ว่า ถ้าชาวนาทำนาอินทรีย์ จะมีข้าวหลายสายพันธุ์ไว้ให้เลือกบริโภค มีพืชพันธุ์อาหารปลอดภัย มีเงินเก็บ หนี้สินลดลง และท้ายที่สุดคือ "มีความมั่นคงในที่ดิน" คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ หากนาอินทรีย์เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถปลดล็อคปัญหาที่ดินหลุดมือจากชาวนาได้ ทำไมผู้นำประเทศเราถึงไม่ส่งเสริมให้ชาวนาทำนาอินทรีย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวนา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และแก้ไขปัญหาหนี้สินของครอบครัว
แนวทางแก้ไขปัญหาชาวนาที่ผมเห็น กลับเหมือนนำชาวนาไปเริ่มต้นเดินใหม่ในเขาวงกต เช่น การคิดจะจ้างให้เลิกอาชีพทำนา ให้เปลี่ยนอาชีพไปปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันแทน ซึ่งก็ไม่แน่อีกเช่นกันว่าถ้าเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว คุณภาพชีวิตของชาวนาจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า ผมว่าถ้าเรารู้แล้วว่า ชาวนายังมีโอกาสรอดจากปัญหาหนี้สิน และที่ดินหลุดมือ เพียงให้พวกเขาปรับเปลี่ยนวิถีการทำนา ก็อย่าให้พวกเขาต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเลยครับ มันจะไม่ใช่วิถีของพวกเขา ที่สำคัญมันจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และแก้ปัญหากันไปไม่รู้จบ เสียมากกว่านะครับ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.