แม้รัฐบาลตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พยายามสนับสนุนให้ชาวนาและเกษตรกรยากจนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เพื่อลดปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมจากเงินกู้นอกระบบ แต่จนแล้วจนรอด ปัญหาหนี้นอกระบบก็ไม่เคยหมดไปจากภาคชนบทไทย กลับจะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น เพราะมีชาวนาจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินให้กับทั้งสถาบันเงินกู้ในระบบ และจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบในปัจจุบัน
หากจะกล่าวถึงต้นตอที่มาของการสูญเสียที่ดินของชาวนา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์การถือครองที่ดินในชนบทบ้านเรา ที่แต่ไหนแต่ไรมาชาวนาภาคกลางไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสิทธิการถือครองที่ดิน ทั้งที่เป็นผู้ทำการผลิตแต่ชาวนาในภาคกลางจำนวนมากเป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ เรียกได้ว่าถูกผลักดันให้เป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่สมัยมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในยุคแรกเลยทีเดียว
เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่แรกๆ ของชนบทไทย ที่ถูกนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่เร่งให้ชาวนาผลิตข้าวจำนวนมาก เพื่อให้มีผลผลิตข้าวเพียงพอที่จะขายออกสู่ตลาดต่างประเทศ (ซึ่งยังคงเป็นอยู่ปัจจุบัน) ยิ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจก ที่ทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยแล้ว ที่ดินชนบทภาคกลางจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกจับจองจากชนชั้นสูง ผู้มีฐานะ และผู้มีอิทธิพล ที่ต้องการแสวงหากำไรจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เข้ามาสู่ภาคกลาง ชาวนาภาคกลางจึงถูกเบียดขับให้กลายเป็นผู้เช่าที่ดินมาตั้งแต่ยุคอดีต ต่างจากชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่เกษตรกรมีโอกาสในการจับจองพื้นที่เกษตรเป็นของตนเองมากกว่า
มาจนถึงยุคปัจจุบัน ภาพเหตุการณ์ก็ยังดำเนินไปในทำนองเดียวกัน แม้จะเปลี่ยนปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องไปมากแล้วก็ตาม เพราะชาวนาภาคกลางในครั้งอดีตที่สามารถจับจองที่ดินของตนเองไว้ได้บ้างจำนวนไม่มากนัก มาถึงวันนี้ก็กำลังถูกเบียดขับให้ต้องกลายเป็นชาวนาเช่า และชาวนารับจ้างรายวันจากผู้ที่มีฐานะ และผู้มีอิทธิพลอยู่ดี
การจัดระบบที่ดินในยุคอดีตที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินผืนแรกในปี พ.ศ. 2444 จึงถือได้ว่าเป็นการนำที่ดิน ปัจจัยการผลิตของชาวนาเข้าสู่ระบบตลาดที่ดิน ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยเสรี ไม่มีการควบคุมใดๆ ประกอบกับเมื่อมีการจัดระบบสินเชื่อที่ชาวนาเคยกู้ตามแหล่งย่อยต่างๆ กระจัดกระจายให้มารวมศูนย์อยู่ภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินด้วยแล้ว ยิ่งเท่ากับเป็นผนวกชาวนาและที่ดินของชาวนาเข้าสู่ระบบกลไกตลาด และเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างเข้มข้นมากขึ้น
แต่เพราะไม่มีความสมบูรณ์ในกลไกตลาดตามที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคาดเดาไว้ เมื่อชาวนากู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม ชาวนาไม่ได้ถูกให้ความรู้อย่างทัดเทียมเท่าที่สถาบันการเงินรู้ โดยเฉพาะความเข้าใจในสัญญาเงินกู้ เงื่อนไขการผ่อนชำระ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด ชาวนาจำนวนมากเมื่อพ่ายแพ้ต่อกลไกตลาด ขายข้าวได้ในราคาที่ไม่คุ้มกับต้นทุนการทำนา ก็มักจะผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น หรือหยุดผ่อนชำระหนี้ไปเลย หลายปีเข้าก็จะถูกสถาบันการเงินฟ้องดำเนินคดีให้ชดใช้หนี้ หรือนำที่ดินที่จำนองไว้ออกขายทอดตลาด และเวลานี้นี่เองที่ผู้มีฐานะ และผู้มีอิทธิพลที่หูตาไวมีเส้นสายอยู่ในสถาบันการเงิน จะเข้ามาช้อนซื้อที่ดินของชาวนาไว้ จากแปลงเล็กๆ ค่อยๆ สะสมกลายเป็นแปลงใหญ่
เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบในภาคกลางเองก็ทำงานไม่ต่างกับสถาบันเงินกู้ในระบบ เพราะสร้างเงื่อนไขให้ชาวนานำที่ดินที่มีอยู่มาจำนอง เมื่อชาวนาไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้เพราะขาดทุนจากการทำนา เจ้าหนี้นอกระบบก็จะฟ้องดำเนินคดีให้ชาวนาชำระหนี้ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ขอให้นำที่ดินชาวนาขายทอดตลาด เมื่อที่ดินชาวนาถูกขายทอดตลาด เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ก็จะติดต่อญาติและคนรู้จักมาช้อนซื้อไว้เอง การถ่ายโอนที่ดินจากมือชาวนาสู่นายทุนและผู้มีอิทธิพล จึงเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะคนที่ประกาศขายทอดตลาดที่ดินชาวนา ก็เป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่ทำหน้าที่ตามคำสั่งศาลนั่นเอง
การยึดที่ดินไปจากชาวนา จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยอดีตจนถึงยุคปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยน และถึงแม้ภาครัฐและสถาบันการเงินจะกล่าวว่าที่ต้องให้ชาวนากู้เงินเพิ่มมากขึ้น ก็เพื่อให้ชาวนามีเงินลงทุนทำนา ซื้อปัจจัยการผลิตและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มากขึ้น แต่ ณ วันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกำไรที่งอกเงยจากการผลิตข้าวที่มากขึ้น คนที่ได้กำไรอาจไม่ใช่ชาวนาตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะสิ่งที่ชาวนาเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือการถูกหลอมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินที่ชาวนาเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกขั้นตอน เพราะกำหนดอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ทั้งราคาข้าว ดอกเบี้ยเงินกู้ หรือแม้แต่การร้องขอเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อไม่ให้นำที่ดินตนเองออกขายทอดตลาด
เดิมพันของชาวนาภาคกลางในการเดินหน้าเข้าสู่ระบบการค้าและการผลิตข้าวเพื่อขาย ด้วยการลงทุนและสร้างหนี้กับสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ สุดท้ายจึงมีจุดจบไม่แตกต่างกันคือการสูญเสียที่ดินในที่สุด
ตีพิมพ์ 14 พย.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.