แนวทางการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทยมีให้เห็นใน 2 มุม มุมหนึ่งคือการนำที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ อีกมุมหนึ่งคือการผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก
เพราะเป็นความคาดหวังของคนในสังคม หากปฏิรูปที่ดินแล้ว ทำให้ที่ดินที่กระจุกตัวอยู่นั้น มีการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ได้ถูกกระจายออกมาโดยอัตโนมัติด้วยมาตรการทางภาษี รวมถึงการนำเงินภาษีที่เก็บได้มาจัดสรรแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค การศึกษา และพวกเราทั้งหลายยังแอบหวังลึกๆว่าจะนำที่ดินมาจัดสรรให้ผู้มีรายได้น้อย ที่มีความประสงค์จะทำอาชีพเกษตรกรรม
นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินยุคปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาพูดชัดว่าจะดำเนินการให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก สำหรับภาษีมรดกเสนอให้เก็บภาษีจาก "ผู้รับ" เป็นหลัก โดยเก็บภาษี "การรับมรดก" ทั้งเงินฝากในธนาคาร หลักทรัพย์ และที่ดิน ที่มีมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยจัดเก็บในอัตราคงที่ 10% และจะประกาศใช้ภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 90% นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่าขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และภายในเดือนตุลาคมนี้ ทางคลังจะเสนอปรับปรุงบางประเด็น เช่น อัตราการจัดเก็บที่10% ควรคงที่ตลอดไปหรือไม่ และประเด็นผู้รับมรดกที่ยังเปิดกว้างอยู่ จนอาจทำให้มีการตั้งนอมินีมารับมรดกเพื่อเลี่ยงภาษีในอนาคตได้ (ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 ต.ค. 2557)
จากกระแสข่าวการจัดเก็บภาษีมรดก ส่งผลให้ประชาชนและเศรษฐีเจ้าของบ้านและที่ดิน ที่กังวลว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคต แห่กันไปโอนทรัพย์สิน ให้ทายาทกันอย่างคึกคัก สำนักงานที่ดินบางแห่งมีผู้มาจดทะเบียนรับมรดกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์(สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯช่วงเดือน ก.ค. และ ส.ค.มีจำนวน 185 รายและในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 194 ราย)
ในอีกมุมหนึ่งที่ต่างกันราวฟ้ากับดินแต่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ของกลุ่มเกษตรกรคนจนไร้ที่ดินชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจงว่า การประชุมเกิดขึ้นเนื่องจากมีกลุ่มผู้ที่ซื้อที่ดินในเขต ส.ป.ก.จำนวน 13 ราย มาร้องเรียนว่าชาวบ้านชุมชนคลองไทรอยู่อาศัยและทำประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินของพวกตนซึ่งได้ซื้อที่ดินผ่านนายหน้า และที่ดินดังกล่าวเป็นของบริษัทจิวกังจุ้ย ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการต่อตั้งชุมชนคลองไทร
ในขณะที่ทางตัวแทนชุมชนคลองไทรฯได้ยืนยันว่าพวกตนได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 พบว่าเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก.แต่ถูกครอบครองและทำประโยชน์โดยบริษัทจิวกังจุ้ย มาอย่างยาวนานตั้งปี พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนั้นที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ ต่อมาในปีพ.ศ.2537 กรมป่าไม้ ได้ส่งมอบพื้นที่นี้ให้ ส.ป.ก. เพื่อปฏิรูปให้เกษตรกร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะนายทุนครอบครองปลูกสวนปาล์มอยู่เต็มพื้นที่
เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการกอ.รมน.จังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชุมชนคลองไทร 3 คน และตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อขายที่ดินในเขตส.ป.ก.3 คน มีปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นเลขานุการ
ในมุมมองของคนทั่วไปเหมือนเรื่องนี้จะจบลงด้วยดีเพราะตัวแทนคณะกรรมการมีองค์ประกอบครบจากทุกฝ่าย แต่สำหรับ นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้ว เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้ามชาวบ้าน ดังนั้นแทนที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง อาจกลับกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการเบียดขับให้ชาวบ้านคนจนหลุดออกไปจากพื้นที่ส.ป.ก.และเปิดทางให้กลุ่มทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินอีกรอบ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจากทั้งสองฝ่ายคณะกรรมการชุดนี้ต้องตรวจสอบทำประวัติของผู้ที่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก.อย่างจริงจัง และเสนอให้เพิ่มตัวแทนนักวิชาการและกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเคยติดตามคดีของชุมชนคลองไทรมาก่อน”
คำถามต่อกรณีนี้คือสิทธิในที่ดินเป็นของ ส.ป.ก. ปล่อยให้มีการซื้อขายได้อย่างไร? และยังมีหลักฐานเพิ่มเติมในกรณี ส.ป.ก. ได้เคยฟ้องร้องดำเนินคดีขับไล่ บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา มาก่อน และศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา ออกจากพื้นที่และส่งมอบที่ดินคืน ส.ป.ก.ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลฏีกา
เราอยู่ในสังคมเดียวกัน คนกลุ่มหนึ่งกำลังเดินไปเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สิน ที่ดิน ให้ทายาทเพราะไม่อยากแบกรับภาษีเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยเรียกร้อง ต่อสู้ ทุกวิถีทางเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้พอเลี้ยงปากท้อง หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปสังคมไทยคงมีการสูญเสียมากกว่านี้ น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะหันมามองปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรอย่างจริงจังเสียที
พิมพ์ 7 พย.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.