เหตุการณ์ชาวนารายหนึ่งราดน้ำมันบนตัวและจุดไฟเผาตัวเอง ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประท้วงหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กับตนได้ หลังจากร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงส่วนกลางที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า สุดท้ายนำมาสู่การตัดสินใจเผาตัวเอง นับว่าเป็นข่าวที่สะเทือนใจสังคมอย่างยิ่งในรอบเดือนที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ชาวนาเผาตัวเอง หรือชาวนาฆ่าตัวตายลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เคยเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเคยมีชาวนาผูกคอตาย ยิงตัวเองตาย กินยาฆ่าแมลงตาย หรือกระโดดรถไฟตายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งเนื่องจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาไม่มีที่ทำกิน และปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เมื่อมองไม่เห็นทางออก ชีวิตเดินเข้าสู่ทางตัน จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิต
กรณีตัวอย่างชาวนารายนี้ จากจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้จนกระทั่งตัดสินใจเผาตัวเอง หากมองให้ลึกจะเห็นว่าต้นเหตุของปัญหา ไม่ใช่แค่เรื่องเจ้าหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยโหด กู้เงินมาสี่แสนแต่หนี้งอกไปถึง 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมทางโครงสร้าง ที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไข และดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
หนี้นอกระบบในชนบทบ้านเรา ถ้าแบ่งง่ายๆ มีสองแบบ แบบแรกเป็นนายทุนในพื้นที่ โดยเจ้าหนี้จะเรียกเอาที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน มักเป็นเงินก้อนใหญ่ บางครั้งมีการเซ็นสัญญาจำนองที่ดิน บางครั้งเซ็นสัญญาขายฝากโอนลอยที่ดิน บางครั้งก็ให้เซ็นสัญญากระดาษเปล่าแล้วเจ้าหนี้ไปกรอกทีหลัง ลูกหนี้มักเป็นชาวนาและเกษตรกรที่ยังมีที่ทำกิน ส่วนอีกแบบเป็นนายทุนนอกพื้นที่ เจ้าหนี้มักปล่อยเงินกู้ก้อนไม่ใหญ่นัก ไม่ต้องใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ต้องใช้หนี้คืนรายวัน โดยจะมีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาทวงหนี้ทุกวัน ชาวบ้านถึงเรียกกันว่าหนี้หมวกกันน็อค ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม้ค้า คนรับจ้างรายวัน รวมถึงชาวนาและเกษตรกรด้วย
ส่วนลักษณะการกู้ ชาวนามักจะขอกู้เป็นก้อนเล็กๆ หลายรอบ จนสะสมเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เงินกู้นอกระบบทั้งสองแบบนี้ ยังคงมีอยู่มากในชนบท เพราะยังมีชาวนาและคนยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ในระบบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวนาไม่ได้มีแค่หนี้นอกระบบหรือหนี้จากแหล่งเดียว ชาวนาส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากสองหรือสามแหล่งในเวลาเดียวกัน คือกู้จากทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ เช่น กู้จากธ.ก.ส. ในขณะเดียวกันก็กู้จากสหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน หรือหนี้นอกระบบร่วมด้วย โดยมีลักษณะการกู้แบบหมุนเวียนหนี้ คือกู้จากแหล่งหนึ่งเพื่อไปใช้คืนอีกแหล่งหนึ่ง กู้จากหนี้นอกระบบเพื่อไปใช้คืนหนี้ในระบบ และกู้จากหนี้ในระบบก้อนที่ใหญ่กว่าเดิมไปใช้คืนหนี้นอกระบบ บางครั้งเมื่อกู้เงินในระบบมาแล้วก็ต้องนำไปลงทุนทำการเกษตรก่อนด้วย จึงเหลือเงินไปใช้คืนหนี้นอกระบบเพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น หนี้ของชาวนาจึงก้อนโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะส่วนใหญ่ใช้คืนได้เพียงดอกเบี้ย แต่ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นได้
ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา เพราะหนี้ในระบบส่งเสริมให้เกิดหนี้นอกระบบ ชาวนาจำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบเพื่อนำมาใช้คืนหนี้ในระบบ เพื่อรักษาเครดิตหนี้ในระบบของตนเองไว้
หากพิจารณาปัญหาความไม่เป็นธรรมในการติดตามทวงถามหนี้ เมื่อชาวนาไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนได้ตามกำหนด เจ้าหนี้นอกระบบจะใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อทวงถามหนี้ บังคับให้ลูกหนี้ยอมรับเงื่อนไขประนีประนอมยอมความหรือบีบบังคับให้ลูกหนี้ยอมรับสภาพหนี้ ดังกรณีของชาวนารายนี้ เจ้าหนี้จะอาศัยผู้ใหญ่บ้านและตำรวจในพื้นที่มาข่มขู่และทวงหนี้ที่บ้าน รวมทั้งมีการยึดคืนที่นาที่ให้เช่า แล้วนำไปให้คนอื่นเช่าแทน ที่สำคัญยังยึดผลผลิตข้าวที่ชาวนาได้ลงทุนไปแล้วกว่า 2 แสนบาท ไปขายเสียเอง เมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ขึ้น ชาวนากลับไม่มีกลไกหรือหน่วยงานใดเพื่อเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้
ปัญหาหนี้สินชาวนา เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สะท้อนภาพความล้มเหลวในชีวิตชาวนา และเป็นปัญหาที่สะสมมาช้านาน โดยมีสาเหตุปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ทั้งปัญหาการขาดแคลนที่ทำกิน ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาต้นทุนในการผลิตสูง ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาอันเนื่องมาจากภาระค่าใช้จ่ายที่สะสมจากความล้มเหลวทางการผลิตในปีที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาการถูกเจ้าหนี้ใช้กฎหมายเพื่อเอารัดเอาเปรียบ
การช่วยเหลือชาวนาจึงไม่ควรมองเฉพาะมิติเรื่องของการสั่งปราบเจ้าหนี้ การพักหนี้ การเพิ่มรายได้ การสร้างวินัยทางการเงิน หรือแจกเงินชดเชยรายได้ให้กับชาวนาเท่านั้น แต่ควรมองที่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง ที่รวมไปถึงโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ยังดำรงอยู่ด้วย
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมองให้ลึกและเร่งแก้ไขปัญหาชาวนาจากระบบและโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เพื่อที่สังคมจะได้ไม่ต้องมานั่งนับศพของชาวนาอีกในรายต่อไป
ตีพิมพ์ วันที่ 31 ตค 57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.