นโยบายแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบัน ที่อยู่ในกระแสถูกวิพากษ์อย่างร้อนแรงไม่แพ้กระแสข่าวอื่นคือ นโยบายช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ซึ่งน่าจะพอรู้กันว่าพืชทั้งสองชนิดนี้คือพระเอกของพืชส่งออกสำคัญของไทยมาหลายสิบปี แต่ ณ ที่นี้ผมจะขอหยิบยกเฉพาะประเด็นเรื่องข้าวขึ้นมาคุยเพียงอย่างเดียว
ประเด็นที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็คือ การที่รัฐบาลออกมาประกาศนโยบายการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว และนโยบายการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท สำหรับผู้ที่ทำนา(ทั้งนาตัวเองและนาเช่า) ไม่เกิน 15 ไร่ และผู้ที่ทำนาเกิน 15 ไร่ ให้จ่ายไม่เกินรายละ 15,000 บาท
หลังจากนั้นก็มีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะคำถามจากชาวนาผู้ปลูกข้าวเองที่ว่า ‘ถ้าไม่ทำนาแล้ว จะให้ชาวนาไปทำอะไร เพราะทำอาชีพอื่นคงทำไม่เป็น และไม่มีความรู้ในวิชาชีพอื่น‘หรือคำปรารภที่ว่า‘ทำนามาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งถึงตอนนี้ ถ้าจะให้ไปทำงานโรงงานหรือรับจ้างอย่างอื่น เขาคงไม่รับ เพราะแก่แล้ว‘
เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนจำนวนดังกล่าวนี้ให้กับชาวนา คงไม่ใช่ว่าชาวนาจะปฏิเสธไม่รับเงินอุดหนุนนี้หรอกครับ แต่สิ่งที่ผมสนใจก็คือว่า มาตรการแก้ไขปัญหานี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ซึ่งเป็นชาวนาจังหวัดชัยนาท ได้ให้ความเห็นว่ามาตรการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับชาวนาถือเป็นนโยบายที่ดี แต่หากจะให้ดีและแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการจ่ายเงินอุดหนุนก็คือ “รัฐบาลต้องหามาตรการในการจัดหาที่ดินทำกินให้กับชาวนา ให้ชาวนาได้มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องเช่าเขาทำอย่างที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันกับชาวนาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะชาวนาภาคกลาง”
ประเด็นที่คุณกิมอังพยายามจะนำเสนอให้เห็นภาพก็คือว่า ณ ปัจจุบัน ต้นทุนการทำนาจะหนักไปที่ค่าเช่านา ซึ่งผลจากการสำรวจข้อมูลกลุ่มตัวอย่างชาวนาจังหวัดชัยนาทพบว่า ชาวนามีต้นทุนการผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นค่าเช่านาสูงถึงร้อยละ 40.6 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ต่อรอบการผลิต ของชาวนาจังหวัดชัยนาทที่คุณกิมอังอ้างถึง มีดังนี้ครับ
ลำดับที่ |
ประเภทค่าใช้จ่าย |
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อไร่ (บาท) |
ร้อยละ |
1 |
ค่าเช่าที่ดิน |
2,101.25 |
40.61 |
2 |
ค่าปุ๋ย |
768.54 |
14.85 |
3 |
ค่ายากำจัดศัตรูพืช |
322.25 |
6.23 |
4 |
ค่าเมล็ดพันธุ์ |
484.38 |
9.36 |
5 |
ค่าจ้างรถไถ |
446.20 |
8.63 |
6 |
ค่าจ้างฉีดพ่นยาฆ่าแมลง |
138.59 |
2.68 |
7 |
ค่าจ้างหว่าน/ค่าจ้างปลูก |
72.02 |
1.39 |
8 |
ค่าจ้างใส่ปุ๋ย |
93.18 |
1.8 |
9 |
ค่าจ้างตัดข้าวดีด |
123.3 |
2.38 |
10 |
ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว |
401.29 |
7.76 |
11 |
ค่าจ้างขนข้าวขึ้นรถไปขาย |
116.53 |
2.25 |
12 |
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ |
106.67 |
2.06 |
รวม |
5,174.20 |
100.00 |
แหล่งข้อมูล : LocalAct/ การสำรวจต้นทุนการผลิตรายครัวเรือน 100 ครอบครัว อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท/ รอบการผลิตปี 2557
หากเราลองพิจารณาข้อมูลในตารางต้นทุนการผลิตเปรียบเทียบกันกับข้อเสนอของคุณกิมอังแล้วจะเห็นว่า ถ้าชาวนามีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองแล้ว ชาวนาก็จะไม่ต้องจ่ายค่าเช่านา จำนวน 2 พันกว่าบาทนี้ และเมื่อชาวนาไม่ต้องจ่ายค่าเช่านา ต้นทุนการผลิตจะลดลงทันที จาก 5,174.20 บาทต่อไหร่ เหลือตัวเลขแค่ 3,073 บาทต่อไร่ ซึ่งน่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่ชาวนารับมือไหว
ทีนี้ลองย้อนกลับไปคิดเล่นๆ ดูครับว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนี้ เมื่อจ่ายแล้วในรอบการผลิตนี้ ชาวนาก็คงเพียงแค่ได้มีโอกาสหายใจหายคอได้สะดวกขึ้น แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือเพียงแค่หนึ่งฤดูการผลิตเท่านั้นครับ หากแต่ว่า ถ้าภาครัฐสามารถหามาตรการในการทำให้ชาวนามีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องเช่าแล้ว จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนมากกว่า ที่สำคัญรัฐคงไม่ต้องมาสิ้นเปลืองงบประมาณในส่วนนี้ในทุกฤดูการผลิต
คิดอะไรก็อยากให้คิดยาวๆ ครับ ปัญหาชาวนาหมักหมม ซุกอยู่ใต้พรมมานานเต็มที ก็เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ใจไม่ถึง กล้าจ่ายเงินระยะสั้น แต่ไม่กล้าแก้ปัญหา “ที่ทำกิน” ที่ชาวนาเขาเรียกร้องมานาน แล้วจะให้ปัญหาชาวนามันจบได้ยังไงล่ะครับ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.