สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ปี 2554 ครัวเรือนเกษตรกรที่เป็นหนี้และมีรายได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆที่ไม่เป็นหนี้ โดยมีมูลค่าหนี้สินถึง 9.9 เท่าของรายได้ต่อเดือน รวมทั้งมีเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นหนี้ในระบบ เฉพาะสินเชื่อการเกษตรที่มีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแห่งเดียว เกษตรกรก็มีหนี้สินรวมกันถึง 876,156 ล้านบาทแล้ว
ชี้ให้เห็นว่าปัญหาชาวนาไทยสั่งสมมายาวนาน ชาวนามากกว่าครึ่งโดยเฉพาะในภาคกลางน่าจะไปต่อได้ยาก เพราะมีแนวโน้มสูญเสียที่ดิน กลายเป็นชาวนาเช่า ชาวนารับจ้าง หรือไม่ก็เลิกอาชีพทำนา และให้ลูกหลานทำงานโรงงานต่อไป
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท แจกเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ จึงถูกตั้งคำถามมากมายจากคนที่เกี่ยวข้องว่า นี่หรือคือทางออก การแก้ไขปัญหาของชาวนา ที่ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้จะคิดได้
ยังดีหน่อยก็ตรงที่ท่านนายกประยุทธ์ เผยออกมาว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาประชาชนที่มีรายได้น้อย และไม่มีที่ดินทำกิน เพื่อจัดสรรและหาที่ทำกินให้กับประชาชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานเอง และมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
ประเด็นหลักของปัญหาที่ดินในสังคมไทย มีเพียงสองเรื่องเท่านั้น คือปัญหาการถือครองที่ดิน และปัญหาการสูญเสียที่ดิน ประเด็นปัญหาการถือครองที่ดิน มีการกล่าวถึงกันอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในกลุ่มนักการเมือง และนักธุรกิจขนาดใหญ่ อันเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่เกิดการกระจายรายได้ในสังคมอย่างเท่าเทียม จนนำมาสู่ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องภาษีที่ดิน ที่กำลังได้รับแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย
ในขณะที่ประเด็นปัญหาการสูญเสียที่ดิน กลับมีการกล่าวถึงกันค่อนข้างน้อย และยังไม่มีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง สถิติการถูกบังคับให้สูญเสียที่ดินของชาวนาและเกษตรกร จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและระบบตลาด จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
ปรากฏการณ์ชาวนาและเกษตรกรเดินหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และล่าสุดคือปาล์มน้ำมัน เปรียบเสมือนปรากฏการณ์แมงเม่าเดินเข้าสู่กองไฟ โดยมีราคาผลผลิตพืชเชิงเดี่ยว ที่ราคาสูงวูบวาบชั่วคราวเป็นตัวล่อ ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยเปลี่ยนทั้งระบบการผลิต และวิถีชีวิต ด้วยการเดินหน้ากู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบเพื่อนำเงินมาลงทุนการเกษตร เมื่อไม่พอเพราะต้องส่งลูกเรียนหนังสือด้วย มีค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูงขึ้นด้วย ก็กู้เงินเจ้าหนี้นอกระบบเพิ่มเติมเข้ามาอีก
นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินของชาวนาและเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่กับตัวอีกแล้ว เพราะถ้าไม่ได้เอาไปจำนองไว้ที่ธนาคารหรือสหกรณ์ ก็มักเอาไปขายฝากหรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งโอกาสจะได้เอกสารสิทธิ์ที่ดินคืนนั้นต่ำมาก หรือแทบไม่มีเลย
การที่ชาวนาและเกษตรกรเดินหน้าเข้าสู่ระบบพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ผลิตอาหารและพืชผลทางการเกษตรป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศและตลาดโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการผลักดันของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมส่งออกข้าว และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งต้องใช้ผลิตผลการเกษตรเหล่านี้จำนวนมาก รวมถึงการผลักดันให้เกษตรกรเดินหน้าเข้าสู่ระบบสินเชื่อทางการเกษตร โดยการตั้งสถาบันการเงินของรัฐ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมเงินไปลงทุน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้นนั่นเอง
ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง ที่เกิดขึ้นจากการผลักดันให้เกษตรกรและชาวนาเดินหน้าเข้าสู่ระบบพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวและสินเชื่อการเกษตรที่ผ่านมา คือภาวะล้นเกินของผลผลิตการเกษตร ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวนาและเกษตรกรมีภาระหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืน สุดท้ายก็ต้องสูญเสียที่ดินให้กับนายทุน ทำให้ประเด็นปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวในมือนายทุนเด่นชัดมากขึ้นอีก
เกษตรกรบางกลุ่มที่สรุปบทเรียนได้ จึงเรียนรู้ว่าการเดินตามนโยบายที่รัฐส่งเสริม โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจที่รัฐสนับสนุน ถึงแม้จะมีราคาดีในช่วงต้น แต่ในระยะยาวแล้วคนที่ได้รับผลประโยชน์อาจจะไม่ใช่เกษตรกร เพราะเกษตรกรอาจต้องแลกมาด้วยการทำลายระบบพืชอาหารของครอบครัว ทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อมของพื้นที่
ในขณะที่การตกหลุมพรางนำที่ดินไปกู้เงินมาลงทุนการเกษตร โดยที่ไม่รู้เงื่อนไขทางกฎหมาย ว่าอาจนำไปสู่การถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด และสืบทรัพย์ไปถึงการยึดบ้านและฟ้องให้เป็นคนล้มละลายได้ ภาระความเสี่ยงเหล่านี้ ล้วนตกอยู่กับเกษตรกรเองทั้งสิ้น ไม่ใช่รัฐบาลและธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร
คำถามสำคัญคือ รัฐบาลได้มีการสรุปบทเรียนด้วยหรือเปล่า ว่าภาวะผลผลิตการเกษตรล้นเกิน ราคาผลผลิตตกต่ำ และเกษตรกรอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันและความผิดพลาดทางนโยบายที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้นนั่นเอง
เพราะหากไม่มีการสรุปบทเรียน นโยบายเหล่านี้จะถูกเวียนซ้ำกลับมาใช้ใหม่อีก เช่น การส่งเสริมให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวและหันไปปลูกพืชไร่ที่ภาคอุตสาหกรรมเกษตรต้องการ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาแบบง่ายๆ แต่ไม่ตรงประเด็น เช่น การแจกเงิน ที่ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรรักษาที่ทำกินที่กำลังจะหลุดมือไว้ได้ หรือทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เช่น การมีที่ทำกิน มีพืชอาหาร มีทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่ดี มีรายได้การเกษตรที่มั่นคง ที่จะทำให้ลูกหลานเกษตรกรอยากกลับมาทำอาชีพเกษตรอีกครั้ง
สุดท้ายแล้ว แม้นว่ามีความตั้งใจดี แต่หากไม่มีการสรุปบทเรียนในอดีตที่มากพอ นโยบายภาคเกษตรของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มองเห็นแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ก็อาจกลายเป็นนโยบายเกษตรที่ผลิตซ้ำ เหล้าเก่าในขวดใหม่ ไม่ต่างจากนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาของชาวนาและเกษตรกรรายย่อยเลยก็ได้
ตีพิมพ์วันที่ 17 ตุลาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.