ภายหลังความล้มเหลวของนโยบายแทรกแซงราคาและโครงการรับจำนำข้าว ทำให้สังคมไทยอยู่ในภาวะเข็ดขยาดต่อนโยบายประชานิยม หากมองในแง่ดีถือเป็นบทเรียนของสังคม ที่ทำให้มีการตรวจสอบเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาภาคเกษตรอย่างรอบด้านมากขึ้น
ณ วันนี้ ได้มีนโยบายแก้ปัญหาภาคเกษตร ซึ่งถูกผลักดันและได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนและนักวิชาการ รวมทั้งมีแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รองรับ นั่นก็คือนโยบายการลดพื้นที่ปลูกข้าว และสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกพืชอื่นที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ โดยจะมีการสนับสนุนจากรัฐ 3 ส่วน คือ 1.ช่วยเหลือช่วงวิกฤตภัยธรรมชาติ 2.ตั้งงบประมาณดูแลในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ และ 3.ปรับโครงสร้างการผลิตโดยปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น หรืออาจให้เงินเพื่อเลิกอาชีพ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือการจ้างให้ชาวนา "เลิกอาชีพทำนา"
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดและเป้าหมายการลดพื้นที่ปลูกข้าวว่า "ขณะนี้ไทยมีพื้นที่เหมาะสมน้อย และมีพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว 27 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 79 ล้านไร่) ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ควรจะปลูกพืชอื่น" โดยปัจจุบันสำนักงานเกษตรแต่ละจังหวัด กำลังสำรวจข้อมูลพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีความเชื่อมร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับยุทธศาสตร์การจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเป็นทิศทางเดียวกันกับความเห็นของนายกสมาคมอาหารสัตว์ไทยที่ว่า "พื้นที่ที่จะจัดโซนนิ่งคือบริเวณที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ซึ่งมันสำปะหลังและอ้อยยังมีความต้องการผลผลิตเพิ่ม ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีความต้องการผลผลิตเพิ่มจาก 5 ล้านตัน เป็น 8 ล้านตันในอนาคต โดยจะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก่อน หากไม่สำเร็จจะพิจารณาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก" นอกจากนี้สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยกล่าวว่า ต้องการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 2 ล้านไร่ (ประชาชาติธุรกิจ, 18 ก.ย. 57)
ในอีกมุมหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงว่าฐานะของชาวนาไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อย สูงวัย ถือครองที่ดินแปลงเล็กๆ หรือต้องเช่าที่ดินทำนา มีศักยภาพการผลิตต่ำ ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีหนี้สิน นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังได้จัดกลุ่มของชาวนาไทยตามรายได้พบว่า ชาวนาจำนวนประมาณ 4 ล้านครัวเรือน แบ่งประเภทชาวนาได้ 3 กลุ่ม มีชาวนารวย 1 ล้านครัวเรือน ชาวนาฐานะปานกลาง 2 ล้านครัวเรือน และชาวนายากจน 1 ล้านครัวเรือน แต่ไม่ว่าจะเป็นชาวนาในฐานะใด ยากจนหรือร่ำรวย ชาวนาก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและมีหนี้สินสูง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะบอกว่า หากชาวนาไม่มีศักยภาพ ทำนาแล้วขาดทุน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก็ควรให้เลิกอาชีพทำนาหรือเปลี่ยนอาชีพไปเสีย
ขณะนี้เราอยู่ในโลกของเศรษฐกิจเสรี คนส่วนหนึ่งจึงเห็นด้วยกับแนวคิดการให้กลไกตลาดทำงาน การพัฒนาศักยภาพการผลิต การปรับคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชาวนาต้องมีการปรับตัวไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการปฏิรูปแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ชาวนามีความรู้ มีความก้าวหน้า มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ แต่แนวคิดการแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยการให้ชาวนาเลิกอาชีพทำนา หรือหันไปปลูกพืชชนิดอื่น สามารถจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต ที่สำคัญอาจถูกตั้งคำถาม ถึงวาระซ่อนเร้นและการฉกฉวยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนจากนโยบายที่เพิ่งออกมานี้
การทำนาถือเป็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ที่คงอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวนาได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนชนิดพืชตามกระแสตลาดอยู่แล้ว หากข้าวราคาไม่ดีก็จะหันไปปลูกพืชสวนหรือพืชไร่ชนิดอื่น สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาให้ชัดเจน จึงไม่ใช่การจ้างให้ชาวนารายย่อยเลิกทำนา เพราะนั่นคือการทำลายวิถีและวัฒนธรรมของสังคมไทย แต่ควรจะวิเคราะห์ให้ชัดถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาของชาวนาอย่างแท้จริง
อันที่จริงแล้ว ฝ่ายที่กำหนดนโยบายและแก้ปัญหาภาคเกษตรควรหาคำตอบให้ชัดเจนว่า การที่ราคาผลผลิตข้าวตกต่ำเป็นเพราะชาวนาปลูกข้าวอายุสั้น คุณภาพต่ำที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐเองใช่หรือไม่ หรือเพราะชาวนาถูกกดราคาจากโรงสี หรือทั้งสองเหตุผล
การที่ต้นทุนการผลิตข้าวสูงและรัฐไม่สามารถช่วยเหลือให้ต้นทุนการผลิตข้าวต่ำลงได้ เป็นเพราะมีกลุ่มทุนควบคุมและผูกขาดการผลิตเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยาเคมีอยู่ใช่หรือไม่
ส่วนการที่ชาวนาไม่มีที่ทำกิน เป็นเพราะชาวนาต้องขายที่นาใช้หนี้ หรือมีการกว้านซื้อและการครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ของนายทุน อะไรคือสาเหตุหลักมากกว่ากัน
หรือการที่ชาวนามีหนี้สิน เป็นเพราะใช้จ่ายเกินตัว หรือเพราะอาชีพทำนาเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เสี่ยงทุกปีเพราะขึ้นอยู่กับสภาวะดินฟ้าอากาศ ไม่มีหลักประกันด้านรายได้ เมื่อปีใดประสบภาวะนาล่ม ฝนแล้ง เกิดโรคแมลงระบาด หนี้สินก็พอกพูน
การที่รัฐบาลคิดเอาง่ายๆ กับนโยบายเช่นนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาชาวนารายย่อยไม่ได้แล้ว ยังจะส่งผลต่อการพลิกโฉมหน้าวิถีการทำนาไทยด้วย เพราะเมื่อชาวนารายย่อยหายไป พื้นที่นาเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนมือ เป็นพื้นที่ทำนาแปลงใหญ่โดยธุรกิจการเกษตร ชาวนารายย่อยที่เคยถูกจ้างให้เลิกอาชีพทำนา ต่อไปก็จะกลายเป็นชาวนารับจ้างในแปลงนาที่เคยเป็นของตนเอง
เมื่อถึงเวลานั้นไม่อยากจะจินตนาการเลยว่า สถานะความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย และความมั่นคงในชีวิตของชาวนาไทย จะเป็นเช่นไร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.