การสืบค้นข้อมูลในปัจจุบันนี้ง่ายนะครับ ในยุคที่สังคมออนไลน์เป็นไปอย่างเข้มข้นทุกวันนี้ มันง่ายและไวมาก แต่ความง่ายและไวก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่ทำให้ความฉาบฉวยของข้อมูลแทรกตัวเข้ามาได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นการนำข้อมูลที่สืบค้นได้จากโลกออนไลน์มาเล่าต่อจึงต้องมีการกลั่นกรองกันให้มากหน่อย
ที่เริ่มบทความชิ้นนี้ด้วยประเด็นของการสืบค้นข้อมูลจากสื่อออนไลน์นั้นเนื่องจากว่า ขณะนี้ผมกำลังสืบค้นข้อมูลหนี้สินและวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต เพื่อเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตชาวนาไทยปัจจุบัน ในพื้นที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทและผมพบข้อมูลวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่น่าสนใจ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ในปัจจุบัน พบว่าวิถีชีวิตชาวนาเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียวครับ
50 ปี ที่แล้ว ถือว่าเป็นจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชีวิตเกษตรกรไทยเลยก็ว่าได้ โดยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกบทบาทของเกษตรกร คือพลิกจากบทบาทเกษตรกรที่ทำแค่พอกิน เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ในลักษณะที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันมานาน การเปลี่ยนแปลงในคราวนั้น มีผลพวงที่ตามมาหลายอย่าง ซึ่งผมจะฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น
ผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงที่ผมพบนั้น ประเด็นแรกกรณีแรงงานในครอบครัวชาวนา จากครอบครัวชาวนาที่เคยมีแรงงานแบบเครือญาติ หรือแบบครอบครัวขยายที่มีแรงงานจำนวนมากเมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันชาวนามีแรงงานในครอบครัว แค่ครอบครัวละ 1-2 คนเท่านั้น แรงงานครอบครัวส่วนที่เหลือล้วนอพยพเข้ามาทำงานในเมืองกันหมดแล้ว
ประเด็นถัดมา จากครอบครัวชาวนาที่สามารถพึ่งพาตัวเองด้านอาหารได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ (ไม่ต้องซื้อกิน) ปัจจุบันในพื้นที่ศึกษา อาหารสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต จำพวกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ แม้กระทั่งข้าวที่ชาวนาเป็นผู้ปลูกเอง กว่าร้อยละ 80 ของครอบครัวชาวนา ล้วนต้องพึ่งพาอาหารเหล่านี้จากภายนอกทั้งนั้น และอีกร้อยละ 73 ของครอบครัวชาวนา ยังต้องซื้อข้าวกินทั้งสิ้น
ความเปลี่ยนแปลงประเด็นที่สามนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าสมัยก่อน แม้จะมีระบบสินเชื่ออยู่บ้างแล้ว แต่ครอบครัวชาวนาที่เป็นหนี้ก็มีไม่มากนัก แต่ปัจจุบันพบว่าชาวนามีรายได้เฉลี่ย 210,140 บาทต่อครอบครัวต่อปี มีรายจ่ายเฉลี่ย 250,323 บาทต่อครอบครัวต่อปี และมีหนี้สินอีกครอบครัวละสองแสนกว่าบาท วิถีชีวิตชาวนาปัจจุบัน กลายเป็นวิถีชีวิตที่ติดลบทุกปีครับ
ความเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ที่เป็นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงข้างต้น คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากอาชีพหลักของคนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่กับคนรุ่นปัจจุบัน เมื่อเราเหมารวมเอาว่า อาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ทุกอย่างเป็นอาชีพเกษตรกรรม เราจะพบว่าครอบครัวที่พ่อแม่เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก(ร้อยละ 84) เมื่อมาถึงรุ่นลูก ก็ยังคงไม่เปลี่ยนไปมากนัก คือ มีครอบครัวที่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลักอยู่ร้อยละ 80
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่า จำนวนคนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักได้เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือ สมัยก่อนครอบครัวที่ทำนาเป็นอาชีพหลักมีมากถึงร้อยละ 70 มาถึงยุคปัจจุบัน พบว่าเหลือครอบครัวที่ทำนาเป็นอาชีพหลักเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น
ผมคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บอกเป็นนัยว่า การทำนาเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบของครอบครัวชาวนาในยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว เพราะรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรอยู่ในช่วงของการศึกษา ในขณะที่พบว่าค่าใช้จ่ายเฉพาะที่เป็นค่าอาหารสูงเป็นลำดับที่หนึ่ง (ร้อยละ 42.24) เลยทีเดียวครับ เมื่อเทียบสัดส่วนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในครอบครัว
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ค่าภาษีสังคม ค่าเครื่องอุปโภค รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้รายได้ของชาวนา ที่เคยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันไม่มีความสมดุลกันแล้ว (รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย) ทำให้ชาวนาต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือพูดให้ตรง เลยก็คือ "ทำนาอย่างเดียวไม่พอกิน" อีกต่อไปแล้ว
ในยุคปัจจุบันชาวนาผู้ที่จะอยู่รอดได้ แบบไม่ลำบากมาก จึงเป็นชาวนาที่ดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นอาชีพหลัก และหารายได้จากอาชีพเสริมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างปลูกอ้อย รับจ้างปลูกมันสำปะหลัง รับจ้างตัดข้าวดีด หรืออื่นๆไม่เช่นนั้นดูท่าจะอยู่รอดยากครับ
ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวนาในยุคปัจจุบัน จากกรณีตัวอย่างในพื้นที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า ชาวนาในพื้นที่อื่นคงมีสภาพวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากชาวนาที่นี่มากนัก คือดำรงชีวิตในลักษณะของการพยุงตัว เอาตัวรอดให้ได้ไปวันๆ ให้นานที่สุดเท่านั้น
ผมคิดว่า สำหรับวิถีชีวิตชาวนารายย่อยในปัจจุบัน แค่ลำพังจะเอาตัวเองและครอบครัวให้รอดยังเป็นเรื่องยากอยู่เลย นับประสาอะไรกับการความคิดที่จะปลดหนี้ของครอบครัวที่มีอยู่นับแสน ที่มีอยู่กับเจ้าหนี้ทั้งในและนอกระบบให้หมดไปได้ เวลาเปลี่ยน วิถีเปลี่ยน ใช่ครับ แต่ถ้าชาวนาไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองอีกครั้ง จากที่เป็นอยู่ตอนนี้ ผมว่ารอดได้ยากนะครับ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.