ช่วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าปัญหาหนี้สินคนในเมือง และหนี้สินชาวนากำลังได้รับความสนใจจากการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่มีการออกประกาศ คสช. รวมถึงการผ่านร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม เมื่อฝ่ายนโยบายเปิดไฟเขียวเช่นนี้ การแก้ปัญหาในทางปฏิบัติหรือในระดับพื้นที่ น่าจะมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
กรณีตัวอย่าง นางอำพร บ่อแก้ว ชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี วัย 53 ปี ที่เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง 6 ไร่ ของแม่ 3 ไร่ และของน้องชายอีก 3 ไร่ แต่ครอบครัวนางอำพรกลับต้องสูญเสียที่นาทั้ง 12 ไร่ นี้ ให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ 2 ราย ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี เพราะความไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมาย และไม่เท่าทันกลลวงของเจ้าหนี้นอกระบบ
การสูญเสียที่นาของนางอำพร เป็นตัวแทนของชาวนาในภาคกลางและในภาคอื่นอีกจำนวนมาก ที่สูญเสียที่ดินในลักษณะเดียวกัน ด้วยความไม่รู้กฎหมาย จึงยอมเซ็นเอกสารกระดาษเปล่า พร้อมให้สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนกับนายทุนเงินกู้ รวมทั้งฝากโฉนดที่ดินไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะตั้งใจจะแค่ขายฝาก และหวังเอาเงินมาโปะหนี้ที่ถูกทวงรายวัน และขู่ทำร้ายร่างกาย
ชาวนากลุ่มนี้จะรู้ตัวอีกที ว่าที่ดินได้หลุดลอยไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบแล้ว ก็ต่อเมื่อมีหนังสือมาขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ หรือเห็นหมายศาลว่าถูกฟ้อง หลายรายถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่นาที่เคยเป็นของตนเอง หลายรายพบว่าเอกสารกระดาษเปล่าที่เซ็นไป ไม่ได้มียอดเงินตามที่ตัวเองได้รับมาแต่มียอดเงินสูงกว่าที่ตกลงไว้ หลายรายเซ็นสัญญากระดาษเปล่าแต่ไม่ได้รับเงินกลับมาบ้านซักบาท เพราะเจ้าหนี้นอกระบบบอกว่าจะเอาเงินไปใช้หนี้เจ้าหนี้รายย่อยให้แทน และอีกหลายรายไม่ได้มีสำเนาสัญญาเงินกู้ หรือสัญญาขายฝากที่นาเก็บไว้กับตัว มีแต่ที่เก็บไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบเท่านั้น
ชาวนาบางรายที่ไม่ยอมย้ายออกบ้านและที่นาตัวเองเพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน กลับถูกเจ้าหนี้นอกระบบที่เคยหลอกให้เซ็นกระดาษเปล่า เอาตำรวจมาจับไปขังคุกเสียอีก เพราะว่าเอกสารที่นาเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบไปแล้ว เจ้าของนาตัวจริงจึงอยู่อย่างผิดกฎหมาย สามารถถูกฟ้องขับไล่และถูกตำรวจจับได้ ถ้าไม่ยอมย้ายออกจากที่นา กรณีของนางอำพรและสามี ที่เพิ่งถูกจับติดคุกก็ด้วยเหตุนี้เช่นกัน
หลายคนคงตั้งข้อสังเกตเหมือนว่า ในยุคสมัยปัจจุบันที่การสื่อสารขยายตัวไปรวดเร็วขนาดนี้ ชาวนาบ้านเรายังถูกหลอกกันอยู่หรือ เหตุผลสำคัญในการอธิบายเรื่องนี้ก็คือ ชาวนามักเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะชาวนาที่เป็นผู้สูงวัย อายุเฉลี่ย 50 ปี ขึ้นไป มักจบการศึกษาแค่ระดับประถม หรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบมักมีทนายความ หรือผู้รู้กฎหมายเป็นที่ปรึกษา
ด้วยเหตุของหนี้นอกระบบและการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมนี่เอง ชาวนาหลายรายจึงรักษาที่นาของตัวเองและครอบครัวไว้ไม่ได้ ในขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบ กลับมีโฉนดที่นาเก็บไว้เป็นตู้ๆ
จริงอยู่ ชาวนาที่เป็นหนี้ ควรจะมีส่วนในการรับผิดชอบหนี้ที่ตนเองเป็นผู้ก่อ แต่การที่หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความยุติธรรม ปล่อยให้มีการทำสัญญาเอกสารเงินกู้ระหว่างชาวนากับเจ้าหนี้นอกระบบกันเอง ทั้งที่รับรู้อยู่ว่า ชาวนาและเกษตรกรทั่วไป มีข้อจำกัดเรื่องการไม่รู้กฎหมาย และไม่รู้หนังสือ นี่ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในระหว่างการทำสัญญาเงินกู้แล้ว
ไม่นับรวมขั้นตอนที่เกษตรกรถูกเจ้าหนี้นอกระบบฟ้องคดี ยึดที่นาขายทอดตลาด และขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ด้วยเหตุที่ว่าชาวนาไม่มีเงินว่าจ้างและเข้าไม่ถึงทนายความ และไม่รู้ว่ามีหน่วยงานรัฐช่วยเหลืออยู่ ชาวนาจึงไม่สามารถพิสูจน์ให้ชัดแจ้งกับศาลได้ว่า โฉนดที่นาที่สูญเสียให้เจ้าหนี้นอกระบบไปนั้น เป็นไปด้วยความไม่เต็มใจ ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าทันกับเล่ห์กลลวง
ในขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบกลับสามารถใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และกลไกรัฐในการยึดที่นาเกษตรกรอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียเอง เช่น การฟ้องศาลให้ยึดที่ดินชาวนาเพื่อชดใช้หนี้ การขอให้สำนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินชาวนา และการแจ้งความตำรวจให้เอาผิดหากชาวนาไม่ยอมออกจากพื้นที่ตามคำสั่งศาล ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน แม้กระทั่งเร็วๆ นี้ หลังจาก คลช.มีคำสั่งให้แก้ไขหนี้นอกระบบของชาวนาก็ตาม
น่าจะเป็นเรื่องดี ที่หนี้นอกระบบชาวนาถูกหยิบยกมาพูดถึงจากฝ่ายที่กำหนดนโยบาย แต่ที่สำคัญกว่าการมองเห็นและพูดถึงปัญหาก็คือ ฝ่ายนโยบายจำเป็นต้องทำงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ถึงจะเข้าใจในความซับซ้อนของปัญหาได้ และลำพังการทำงานด้วยคำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีกลไก แขนขาในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพมากพออย่างที่เป็นอยู่ นี่จึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่นโยบายนี้จะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมาได้
ตีพิมพ์วันที่ 12 กันยายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.