คงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือน่าเศร้าใจอะไร หากผมจะบอกว่า ตัวเลขหนี้สินเฉลี่ยของประชากรในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ 163,087 บาท ต่อครัวเรือน เป็นตัวเลขที่สำนักงานสถิติแห่งชาติรวบรวมเอาไว้ครับ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำในระดับกลางๆ หรือผู้มีอันจะกิน สักวันหนึ่ง เราคงพอมีทางที่จะชดใช้หนี้ก้อนนี้ ให้หมดได้ แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ หนี้สินเฉลี่ยระดับนี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเอามากๆ สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย หรือผู้ที่ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้ หรือชื่อเต็มว่า “ร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .......” ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ออกไป กฎหมายฉบับนี้ มีสาระหลักคือ กำหนดให้ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ มีการกำหนดแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ ทั้งในเรื่องสถานที่และเวลาในการติดต่อ โดยวันทำการปกติให้ทวงหนี้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการให้ทวงหนี้ได้ในเวลา 08.00-18.00 น. และกำหนดข้อห้ามในการทวงถามหนี้ เช่น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือใช้วาจาดูหมิ่น ถากถาง หรือเสียดสีลูกหนี้ ตลอดจนห้ามกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่กำหนด หรือการจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น ใน มาตรา ๑๔ ที่ระบุว่า ผู้ติดตามหนี้ต้องไม่ปฏิบัติหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่เป็นการล่วงละเมิด ข่มขู่ การใช้วาจาที่ทำให้เกิดความเสียหาย การกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นการล่วงละเมิด และการคุกคาม หรือใน มาตรา ๑๕ ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ ใช้วาจา ข้อมูลหรือข้อความที่เป็นเท็จ หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น
ผมมานั่งนึกดูว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้สามารถตีความครอบคลุมมาถึงหนี้ของเกษตรกร โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หนี้หมวกกันน็อค” (เพราะใส่หมวกกันน็อคมาทวงหนี้เกษตรกรทุกวัน) ได้ก็คงจะดี เพราะดูเหมือนว่าเนื้อหากฎหมายทวงถามหนี้ฉบับนี้ จะให้ความสำคัญกับหนี้ในธุรกิจบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ หรือธุรกิจการเช่าแบบลิสซิ่ง ซึ่งเป็นปัญหาหนี้ของคนในเมืองมากกว่า และคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากการตีความในกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาหนี้ที่ไม่เป็นธรรมและทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินจำนวนมากในปัจจุบัน
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากปี 2539 ถึงปี 2556 พบว่า ตัวเลขหนี้สินเฉลี่ยของประชากร จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขปีล่าสุดประชากรมีหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 264,144 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกันกับตัวเลขหนี้สินเฉลี่ย ของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างในงานศึกษาปัญหาหนี้สินที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท
รายได้ของครัวเรือนเกษตรกรจังหวัดชัยนาท ณ ปี 2557 ผลการศึกษาพบว่ารายได้ของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ครอบครัวละ 281,125 บาทต่อปีเป็นรายได้ที่มาจากการทำการเกษตร 139,343 บาทต่อปี และรายได้จากการรับจ้างและลูกหลานส่งให้อีก 141,782 บาทต่อปีขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ครอบครัวละ256,573 บาทต่อปี โดยเป็นรายจ่ายลงทุนการผลิต 138,593 บาทต่อปี และค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีก 117,980 บาทต่อปี นี่คือตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่รายได้เกษตรกรไม่สมดุลกับรายจ่าย เพราะเมื่อเมื่อนำรายได้มาลบรายจ่าย เกษตรกรเหลือรายได้สุทธิแค่ 24,552 บาทต่อปี เท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และอีกสารพัดอย่าง ซึ่งถ้านำมารวมด้วย เกษตรกรคงมีรายได้ที่ติดลบอย่างแน่นอน
นี่เป็นเหตุผล ที่ทำไมเกษตรกรมีหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืน แต่กลับต้องหมุนหนี้จากแหล่งหนี้นอกระบบมาใช้คืนหนี้ในระบบ วนอยู่อย่างนี้ เพราะเกษตรกรมีรายได้สุทธิติดลบทุกปี โดยเกษตรกรรายหนึ่ง มักมีหนี้สินถึง 3-4 แหล่งในเวลาเดียวกัน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ งานศึกษาหนี้สินของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ณ ปี 2557 หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกรอยู่ที่ 314,863 บาทต่อปี
สถาบันเงินกู้ที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และเจ้าหนี้นอกระบบ ทั้ง เจ้าของโรงงานที่เกษตรกรส่งผลผลิตไปขาย เจ้าของร้านขายปุ๋ยและยาเคมี และนายทุนที่ซื้อขายเก็งกำไรที่ดิน โดยยอดเงินกู้ของ ธ.ก.ส. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 นอกเหนือจากนั้นเป็นหนี้นอกระบบ และสถาบันการเงินอื่น
มาถึงตรงนี้ ผมจึงคิดว่า สนช. ควรจะคิดให้ละเอียดมากขึ้นอีกนิดว่า ทำอย่างไรกฎหมายทวงถามหนี้ฉบับนี้ ถึงจะถูกตีความและนำมาใช้กับหนี้นอกระบบของเกษตรกรได้ด้วย โดยเฉพาะในขั้นตอนของการบังคับใช้และกลไกในการปฏิบัติ ทำทั้งที่ก็อย่าให้เสียของเลยครับ ช่วยกันกำจัดหนี้ “หมวกกันน็อค” ของเกษตรกรให้เบาบางลงเสียบ้างก็คงจะดี
ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 5 กันยายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.