แม้การผลักดันภาษีที่ดินในสังคมไทย โดยเฉพาะภาษีที่ดินในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันบ่อยในปัจจุบัน ว่าถึงเวลาของการทำเรื่องนี้ให้มีผลในทางปฏิบัติเสียที หลังจากที่ถูกทำแท้งกันมาแล้วหลายยุคสมัย แน่นอนเรื่องนี้เป็นเรื่องดีที่ควรสนับสนุน แต่นั่นทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าการผลักดันเรื่องภาษีที่ดินนี้ จะสามารถชะลออัตราการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย และการเปลี่ยนมือที่ดินของชาวนาไปสู่มือนายทุน จากมือคนไทยไปสู่คนต่างชาติ ได้มากน้อยแค่ไหน
แน่นอนว่ามาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในสังคมไทย ไม่ใช่ว่ามาตรการเดียวจะแก้ปัญหาได้ร้อยแปด แต่ต้องใช้หลากหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของคนไทยที่ซับซ้อน สถิติการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรสูงขึ้นทุกที แม้ไม่มีหน่วยงานรัฐทำสถิติข้อมูลนี้ไว้ให้น่าเชื่อถือ แต่จากการสัมภาษณ์ในกรณีศึกษางานวิจัยการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่าในทุกชุมชนของพื้นที่ภาคกลางที่ศึกษา ถ้าไม่สูญเสียที่ดินด้วยปัญหาการจำนองและขายฝากที่ดินกับเจ้าหนี้ ก็กำลังถูกกว้านซื้อที่ดินจากนายทุน ที่มีนายหน้าค่อยๆ ช้อนซื้อจากที่ดินแปลงเล็กกระจัดกระจายมาเป็นที่ดินแปลงใหญ่ผืนเดียวกัน เพื่อทำธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ หรือลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจ็ก
น่าเสียดายที่ไม่มีสถาบันวิชาการทำข้อมูลการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรในช่วงเวลาปัจจุบันไว้ให้อ้างอิง มีเพียงสถิติในอดีต ในช่วงระหว่างปี 2502-2509 ที่มีเกษตรกรสูญเสียที่ดินจากการขายฝากและจำนองที่ดินกับเจ้าหนี้ 1.7 แสนไร่ เฉลี่ยสูญเสียที่ดินปีละประมาณ 2 หมื่นกว่าไร่ เฉพาะในภาคกลางภาคเดียว สูญเสียที่ดินปีละประมาณ 2.8 หมื่นไร่ ถ้ารวมตัวเลขการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรภาคกลาง ปี 2502-2518 สูญเสียที่ดินรวมกัน 2.6 แสนไร่ โดยระหว่างปี 2527 -2536 มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่การเกษตร ไปเป็นพื้นที่บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟ ปีละประมาณ 18,000 ไร่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่บ้านจัดสรร โดยไม่มีการควบคุมหรือบังคับใช้กฎหมายผังเมืองให้มีประสิทธิภาพนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยภาพรวม ย้อนหลังไปเมื่อ 20-50 ปีที่แล้ว เกษตรกรสูญเสียที่ดินในอัตราเฉลี่ยปีละกว่า 2 หมื่นไร่ แต่ถ้าเป็น ณ ปีปัจจุบัน เกษตรกรคงไม่ได้สูญเสียที่ดินต่อปีในหลักหมื่นไร่ แต่คงอยู่ในระดับหลายแสนไร่ต่อปี ไม่เช่นนั้น ตัวเลขการจำนองและขายฝากที่ดินคงไม่สูงถึง 30 ล้านไร่ เช่นที่เป็นอยู่ (กรมพัฒนาที่ดิน 2550, อนุสรณ์ อุณโณ 2547 อ้างในปิยาพร อรุณพงษ์ 2557)
ในขณะที่ช่วงเวลาปัจจุบัน มีการรุกคืบอย่างรวดเร็วของนายทุน ในการลงทุนภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในธุรกิจอาหาร ธุรกิจการปลูกข้าวและค้าข้าว การกว้านซื้อและการถือครองที่ดินเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ติดต่อกัน ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างมากในพื้นที่ภาคกลาง บางส่วนในภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินในประเทศไทย อยู่ในโหมดเร่งของการเปลี่ยนมือจากชาวนารายย่อย มาเป็นนายทุนรายใหญ่
ส่วนการเปลี่ยนมือที่ดินจากคนไทย ไปเป็นของคนต่างชาติ ถ้าไม่นับรวมพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ การเปลี่ยนมือที่ดินเกษตรสู่นายทุนต่างชาติ มักเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง ที่มีการลงทุนในระบบชลประทานจากภาครัฐไว้แล้ว 28.14 ล้านไร่ เช่น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชัยนาท และฉะเชิงเทรา จังหวัดเหล่านี้ล้วนตกเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติในประเทศที่ร่ำรวย เพื่อลงทุนทำการเกษตรและส่งอาหารกลับไปยังประเทศตนเองหรือขายให้กับประเทศอื่น ดังที่นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เคยให้ข้อมูลไว้ว่า มีกลุ่มนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ได้จ้างวานนายหน้าให้มากว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะอนาคตจะเกิดวิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหาร ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ยอมรับว่าเรื่องนี้มีมูลความจริง (โพสต์ทูเดย์ 18 พ.ย.2551) ส่วนรูปแบบการถือครองที่ดินของนายทุนต่างชาติทำได้โดย การถือหุ้นในบริษัทที่ลงทุนด้านที่ดิน โดยถือหุ้นบริษัทร้อยละ 49 และจ้างคนไทยถือหุ้น อีกร้อยละ 51 ตามกฎหมาย หรือว่าจ้างนอมินีคนไทยซื้อที่ดิน หรือรับลูกบุญธรรมเป็นคนไทย หรือแต่งงานกับคนไทยเพื่อให้มีสิทธิ์ในการซื้อที่ดิน
การเปลี่ยนมือที่ดินในสังคมไทยขนานใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ ยังไม่มีมาตรการใดจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไข พูดให้ชัดก็คือยังไม่มีหน่วยงานใด รับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนรายใหญ่และนายทุนต่างชาติ ถ้าจะมีก็เพียงความตระหนักของบางหน่วยงาน หรือองค์กรเอกชนบางส่วนที่ติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนมือที่ดินขนานใหญ่นี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ และส่งผลกระทบกับคนในสังคมวงกว้างอยู่ก็ตาม (ขอบคุณข้อมูลจากงานวิจัยประวัติศาสตร์การสูญเสียที่ดิน ปิยาพร อรุณพงษ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.