ข่าวการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ชอบของนายทุน มักมีให้เห็นเป็นระยะ แต่ช่วงนี้สังเกตได้ว่ามีข่าวเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อย จากสถิติข้อมูลคดีที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ในปี 2550-2554 มีคดีที่ดินที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 118,006 คดี ในจำนวนนี้ มี 1,013 คดี ที่ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นชาวบ้านชุมชนท้องถิ่น เป็นเกษตรกร ทำสวน ทำไร่ ทำนา และทำประมงพื้นบ้าน แต่ถูกดำเนินคดีมีข้อพิพาทกับรัฐและนายทุน เนื่องจากความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
บทความชิ้นนี้ จะถือโอกาสเล่าประสบการณ์ของเครือข่ายคนจนไร้ที่ดินภาคใต้ ซึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องให้กระจายสิทธิ์การถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ดังคำกล่าวของเกษตรกรที่ว่า "สำหรับคนจนแล้วที่ดินมีความหมายต่อการดำรงชีวิต เมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่กลายเป็นว่าเกษตรกรกลับไม่มีที่ดินทำกิน ถ้าคนไทยไม่ลุกขึ้นมาโต้แย้งสิทธิ์กับกลุ่มนายทุนที่ฮุบที่ดิน ต่อไปที่ดินคงกลายเป็นของบริษัทต่างชาติไปหมด คนจนก็จะจนขึ้นเรื่อยๆ คนรวยก็จะรวยขึ้นอีก" นี่คือคำกล่าวของนาย สุพจน์ กาฬสงค์ ตัวแทนจากชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี
ในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อคนจนไร้ที่ดินบางกลุ่มลุกขึ้นมาตรวจสอบการถือครองที่ดินรัฐของนายทุน แต่กลับกลายเป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบเองที่ถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของนายทุน นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ แกนนำชุมชนสันติพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ปัญหาคดีความที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่ เนื่องจากชาวบ้านเข้าไปตั้งชุมชนในพื้นที่สวนปาล์มของบริษัทเอกชนที่หมดสัญญาเช่ากับรัฐแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) และบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีการออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประมาณ 1,486 ไร่ แต่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ
แต่เมื่อกลุ่มเกษตรกรยากจนเข้าไปตั้งชุมชนเพื่อขอใช้สิทธิ์ในการกระจายการถือครองที่ดิน สิ่งที่ตามมาคือ การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีความ นายบุญฤทธิ์และสมาชิกในชุมชนอีก 24 คน ถูกบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินตั้งแต่ ปี 2552 ขณะนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ด้านคดีแพ่ง ได้มีคำตัดสินของศาลออกมาแล้วเช่นกันว่า ให้เกษตรกรชำระค่าเสียหาย 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จ่ายค่าเสียหายรายเดือนๆ 50,000 บาท ให้กับบริษัทดังกล่าว
การลุกขึ้นมาตรวจสอบการถือครองที่ดินของนายทุน ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินของคนจน จึงเสมือนเจอทางตัน เมื่อไม่สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรม ให้ตรวจสอบความจริงและรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระที่ได้ตรวจสอบข้อมูลการครอบครองที่ดินของนายทุนก่อนหน้านี้ได้
ทนายความจากสภาทนายความ ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ผู้รับผิดชอบคดีนี้ เคยให้รายละเอียดไว้ว่า บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ยื่นฟ้องให้ชาวบ้านออกจากที่ดินโดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดิน แต่ชาวบ้านแย้งว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของบริษัทออกโดยมิชอบ ประเด็นปัญหาคือศาลไม่รับฟังแนวทางการตรวจสอบที่ดินนายทุนที่ออกโดยไม่ชอบของหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ อีกทั้งในทางคดีอาญา บริษัทต้องชี้ชัดให้ได้ว่าที่กล่าวว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ของบริษัท พื้นที่นั้นอยู่ตรงจุดไหน แต่บริษัทกลับชี้ชัดที่ดินของตัวเองไม่ได้ ส่วนคดีแพ่งศาลพิจารณาว่าเอกสารสิทธิ์เป็นของบริษัท เพราะยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ศาลจึงพิพากษาใช้ชาวบ้านชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ลงไปตรวจสอบกรณีนี้ด้วยตัวเอง ให้ความเห็นไว้ว่าจากการดูสารระบบที่ดิน บริษัทมีการกล่าวอ้างว่า ที่ดินมีการทำประโยชน์เป็นสวนปาล์ม ก่อนปี 2497 ซึ่งข้อมูลนี้ขัดกับภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งพื้นที่มีสภาพเป็นป่า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินในอดีตก็ยอมรับว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า แต่พอมารายงานหัวหน้า หัวหน้าบอกว่า ถ้าเขียนว่าเป็นป่า ก็ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ จึงต้องเขียนข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารสำรวจที่ดิน
นี่เป็นที่มาที่ทำให้ตัวแทนชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา 20 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ประเด็นการฟ้องคือ กรมที่ดินและกรมป่าไม้ ปล่อยให้มีการบุกรุกทำลายป่า และไม่ดำเนินการสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริษัทและให้บริษัทออกจากพื้นที่ของกรมป่าไม้ เพื่อรักษาสภาพป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกบุกรุก ให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติ
การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ชอบของนายทุน กลายเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั่วไปโดยที่ไม่มีการเพิกถอน ตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ให้อำนาจไว้ในมาตรา61 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ในการตรวจสอบถ่วงดุลการถือครองและการใช้ที่ดินที่ถูกต้องของรัฐ และกระจายสิทธิ์การถือครองที่ดินให้กับเกษตรกรยากจนในรูปแบบสิทธิชุมชน และควบคุมการถือครองที่ดินองนายทุนด้วยภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการเข้าถึงสิทธิในที่ดินอย่างเท่าเทียม
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
บทความ คดีคนจนยึดสวนปาล์ม เรื่องจริงของเหรียญคนละด้านในกระบวนการยุติธรรมไทย
โดย กฤษดา ขุนณรงค์
บันทึกการสัมมนาวิชาการ "เอกสารสิทธิ์มิชอบผิดที่ใคร ทุน กลไกรัฐ หรือ กระบวนการยุติธรรม" 19 มิถุนายน 2556 โดย กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
รายงานการศึกษาเชิงปฏิบัติการ "เพื่อค้นหาแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเรื่องคดีด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ" โดย สำนักงานปฏิรูป
ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.