การเปิดเผยผลการศึกษา "นโยบายภาครัฐและบทบาทของสถาบันการเงิน ที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย" ของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานศึกษาร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน สะท้อนภาพให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวนาและการถูกยึดที่ดินขายทอดตลาดของชาวนา เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับกลไกแก้ปัญหาหนี้ของรัฐที่ล้มเหลว หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการเยียวยาและป้องกัน ก็ยากเหลือเกินที่เกษตรกร และชาวนาไทยจะสามารถรักษาที่ดินไว้ได้ถึงรุ่นลูกหลาน
การนำที่ดินหรือที่นามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการสูญเสียที่ดินของชาวนา แทบจะกล่าวได้ว่าเส้นทางการนำที่ดินหรือที่นาไปจำนองกับสถาบันเงินกู้ เป็นเส้นทางวันเวย์ คือมีแต่ทางไปและไม่มีทางกลับ เพราะว่ามีเกษตรกรจำนวนน้อยรายมาก ที่เมื่อนำที่ดินไปจำนองแล้วจะสามารถไถ่ถอนที่ดินคืนกลับมาได้ สุดท้ายมักต้องจบลงที่การสูญเสียที่ดินให้กับสถาบันการเงินเหล่านั้น ในหลายกรณีเกษตรกรเองต้องตัดสินใจขายที่ดินเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้ ก่อนที่ที่ดินที่จำนองไว้ จะถูกธนาคารยึดและขายทอดตลาดในราคาถูก
ตัวเลขที่เป็นทางการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่ามีเกษตรกรนำที่ดินไปจำนองและขายฝากไว้กับสถาบันการเงินถึง 30 ล้านไร่ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขที่ไม่เป็นทางการย่อมสูงกว่านี้ คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินของเกษตรกรย่อมทราบดีว่า ที่ดินที่ถูกจำนองเหล่านี้มีความหมายไม่แตกต่างจากที่ดินที่เกษตรกรได้สูญเสียไปแล้วนั่นเอง
จริงอยู่ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร อาจถูกมองว่าเป็นปัญหาในเชิงบุคคล ใครก่อหนี้ ผู้นั้นก็ควรเป็นผู้ชดใช้ รวมถึงสาเหตุของปัญหาหนี้สินเกษตรกร ก็มีสาเหตุที่ซับซ้อนและยากแก่การทำความเข้าใจในคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่การที่รัฐปล่อยให้ที่ดินเพื่อการเกษตร ถูกสถาบันเงินกู้ยึดและขายทอดตลาดโดยไม่มีเพดานหรือการควบคุมเลย นี่ย่อมเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
ที่กล่าวว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ ต่อไปในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราคงคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่ชาวนาไทยทำนา คงจะไม่ใช่ที่ดินของชาวนาอีกต่อไป แต่จะเป็นที่ดินของคนอื่นที่เอามาให้ชาวนาเช่าทำนา และคิดราคาค่าเช่าในอัตราที่รัฐเองก็อาจควบคุมไม่ได้
ประการถัดมา การเปลี่ยนมือของที่ดินจากชาวนา ชาวไร่ ไปสู่นายทุนรายใหญ่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป โดยที่รัฐเองก็อาจจะควบคุมไม่ได้ สุดท้ายแม้แต่พวกเราเอง ที่บริโภคข้าวอยู่ทุกวัน ก็อาจจะไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่ถือครองที่ดินหรือที่นาผืนใหญ่อยู่ เมื่อไม่มีการควบคุมพื้นที่ราบลุ่มเพื่อการเกษตรก็อาจจะไม่ได้อยู่ในมือของคนไทย แต่ตกอยู่ในมือของนายทุนชาติไหนก็เป็นได้
การที่รัฐไม่ได้มีกระบวนการในการช่วยเหลือหรือคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม แต่กลับปล่อยให้ที่ดินเพื่อการเกษตรของชาวนาและเกษตรกร ถูกสถาบันเงินกู้ยึดและขายทอดตลาดอยู่ทุกวัน จึงเป็นกระบวนการที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งต่อความมั่นคงด้านอาหารของคนไทย และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไทย
นางลมัย สำรวย เกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี วัย 56 ปี เป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่ง ที่มีประสบการณ์การถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด โดยที่ตัวเองไม่เต็มใจและไม่ได้ถูกแจ้งให้รู้ล่วงหน้า เหตุที่น้องสาวนำที่ดิน 54 ไร่ ของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้วและนางลมัยเป็นสืบทอดที่ดิน ไปจำนองกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงิน 1.5 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนวิ่งรถรับส่งอ้อย ณ วันที่ถูกฟ้อง น้องสาวนางลมัยมีหนี้รวมดอกเบี้ย 2.1 ล้านบาท สุดท้ายก็ถูก ธ.ก.ส.ฟ้องและศาลมีคำสั่งให้ยึดที่ดินขายทอดตลาด นางลมัยเป็นเกษตรกรที่ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อรักษาที่ดินไว้ให้ได้ เมื่อสำนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ประกาศขายที่ดินทอดตลาด นางลมัยได้ทำเรื่องยื่นไปที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เพื่อให้หยุดการขายทอดตลาด เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้ตกลงที่จะช่วยเหลือและซื้อหนี้จาก ธ.ก.ส. เพื่อให้นางลมัย รักษาที่ดินการเกษตรผืนนี้ ไว้ แต่โชคคงไม่เข้าข้าง หรือที่ดินของนางลมัย อาจจะเป็นที่ดินแปลงที่สวยถูกใจนายหน้าค้าที่ดิน ที่ดินของนางลมัยจึงถูกขายให้คนอื่นไป โดยที่นางลมัยไม่รู้ และเข้าใจไปว่า กองทุนฟื้นฟูฯได้ประสานงานกับ ธ.ก.ส. ในการซื้อหนี้ของตนเองแล้ว ธ.ก.ส. คงจะไม่ขายที่ดินของตนเองให้คนอื่นไป ในกรณีนี้ แม้นางลมัยจะมีหนี้กับสถาบันการเงินของรัฐ อย่าง ธ.ก.ส. และมีกลไกแก้ปัญหาหนี้ของรัฐ อย่าง กฟก.เข้ามาช่วยเหลือ แต่นางลมัยก็ยังไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ นับประสาอะไรกับเกษตรกรอื่นที่ไม่รู้จัก กฟก.และกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น โอกาสในการต่อรองเพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกรจึงมีต่ำเต็มที
การขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกรโดยสถาบันเงินกู้ กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเรื่องน่าแปลกที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ หรือการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรหรือแก้ปัญหาที่ดินทำกิน กับสถาบันการเงินที่ให้กู้และยึดที่ดินเกษตรกร ถ้าเป็นอย่างนี้ ถึงปฏิรูปที่ดินไปเท่าไร ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้เกษตรกรไปมากแค่ไหน ที่ดินก็ไม่มีทางอยู่ในมือเกษตรกรได้
เหมือนกับที่เกษตรกรรายหนึ่งเคยพูดไว้ว่า ปัจจุบันกลายเป็นว่าที่ดินที่ชาวนาใช้ประกอบอาชีพและเป็นแหล่งอาหารของสังคม กลายเป็นสินค้าที่ขายดีและมีกำไรงามที่สุด โดยเฉพาะที่ดินที่สถาบันเงินกู้ยึดไปจากชาวนา และนำไปขายทอดตลาดกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยของไทย ไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลานได้อีกต่อไป
ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 15 สิงหาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.