ปกติวิสัยของคนส่วนใหญ่ในบ้านเรา หากให้ลองนึกถึงธุรกิจ การประกอบการ หรือการลงทุนอะไรสักอย่าง คุณว่าเขาเหล่านั้นจะนึกถึงภาพวาดแบบไหน คุณคิดว่าเขาเคยตั้งคำถามไหมว่า “อาหารที่เขากินอยู่ทุกวันนั้นมาจากไหน” ? ตัวคุณเอง ณ ตอนนี้ก็เช่นเดียวกันครับ กับคำถามเดียวกัน คำถามแรก คุณนึกถึงภาพอะไรอยู่หากนึกถึงเรื่องการประกอบการ คำถามที่สอง คุณเคยตั้งคำถามกับที่มาของอาหารที่คุณกินหรือไม่ ?
ที่ผมขึ้นต้นด้วย 2 ประเด็นหลักๆ คือ ธุรกิจ และที่มาของอาหารที่เรากิน เพราะผมอยากพาคุณๆ ไปรู้จักกับรูปแบบธุรกิจแนวลูกทุ่งๆ แนวชาวบ้านๆ ที่รวมกลุ่มกันเพื่อก่อการบางอย่างซึ่งมีนัยสำคัญและมีอนาคตของพวกเขาเป็นเดิมพันกับการก่อการครั้งนี้ด้วย บทความชิ้นนี้อาจถือเป็นภาคต่อหรือจิ๊กซอลตัวหนึ่งของบทความเรื่อง ‘ภูมิปัญญาชาวนาเป็นหนี้ ทำนาอินทรีย์เพื่อรักษาที่ดิน’ ที่ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1156 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ก็ได้ครับ
หากคุณได้ไปสัมผัสวิถีธุรกิจแบบที่ผมได้ไปสัมผัส ผมเชื่อว่า หลังจากที่คุณกลับบ้านไป คุณจะไม่มีคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับ 2 ประเด็นที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้กลับไปนอนคิดให้เมื่อยหัวว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าธุรกิจ(ซึ่งเป็นธุรกิจในแบบฉบับของชาวนาจริงๆ) และที่มาของอาหารที่เรากินมาจากไหน... เพราะเมื่อคุณได้เห็นตั้งแต่ต้นกำเนิดของอาหาร การแปรรูปอาหาร ไปจนถึงหนึ่งจานอาหารหรือหลายๆ เมนูอาหารที่วางอยู่ตรงหน้าคุณ ความสงสัยจะหมดไปทันที มันคือธุรกิจที่ “กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม” แห่งตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ให้คำจำกัดความว่ามันคือการทำธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”ซึ่งกลุ่มวางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำให้ธุรกิจนี้แก้ไขปัญหาสมาชิกกลุ่มให้ได้ แม้ปัจจุบันรายละเอียดหลายประการ เช่น การบริหารจัดการกลุ่ม การจัดการรายได้ การจัดการค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต ฯ ยังอยู่ในขั้นของการทดลองเพื่อให้ลงตัว แต่การทดลองทุกประการเหล่านั้น...พวกเขาเอาจริง
ต้นน้ำ คือ ขั้นเริ่มต้นของธุรกิจ ซึ่งสรุปความจากสิ่งที่คุณกฤษณะ ฮวดลิ้ม ผู้ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มคนสำคัญในการเริ่มแนวคิดของการทำธุรกิจของกลุ่ม ได้พูดเอาไว้ว่า กลุ่มได้เริ่มจากการสรุปบทเรียนการทำเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่ชาวนาทำนาแล้วต้องขายข้าวให้กับพ่อค้าโดยปราศจากพลังในการต่อรองเรื่องราคา ผู้ลงแรงคือชาวนา เมื่อทำนาขาดทุน ผู้แบกรับภาระก็ยังคงต้องเป็นชาวนา คำถามจึงเริ่มเกิดขึ้นว่าทำไมสภาพแบบนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา เมื่อคำถามเกิดขึ้น การหาหนทางออกในการแก้ไขปัญหาจึงตามมา และการรวมกลุ่มจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวๆ ปี 2552 เป็นต้นมา
ธุรกิจต้นน้ำ คือการทำการผลิตเอง โดยกลุ่มเริ่มต้นกิจกรรมกลุ่มจากการขายความเป็นเอกลักษณ์ด้วยการวางแผนปลูกข้าวอินทรีย์ขนาด 30 ไร่ การทำศูนย์การเรียนรู้ การทำแปลงเกษตรทดลอง การปลูกพืชผักกินได้ชนิดต่างๆ การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด การทำสารจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อใช้ในแปลงเกษตร จึงตามกันมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้น เพื่อที่จะนำไปสู่ขั้นตอนถัดไปที่เรียกว่า “กลางน้ำ”
กลางน้ำ คือ ขั้นของการแปรรูปผลผลิต ซึ่งจะนำผลิตผลที่ทั้งหมดที่ได้จากแปลง แปรรูปเป็นอาหารในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ “ขนมจีน” ซึ่งต้องวงเล็บต่อท้ายด้วยว่า “อินทรีย์” เพราะได้จากข้าวสายพันธุ์ชัยนาทที่ปลูกแบบอินทรีย์ตั้งแต่ต้น ขนมจีนถือเป็นพระเอกของผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของกลุ่มก็ว่าได้ เนื่องจากว่าขนมจีนประสบความสำเร็จในการทำการตลาดที่สุด โดยเฉลี่ยในหนึ่งวัน กลุ่มจะแปรรูปข้าวสารประมาณ 200-250 กิโลกรัมให้เป็นเส้นขนมจีนและขายได้วันละประมาณ 400-500 กิโลกรัม(ประมาณ 2 เท่าตัว) ราคาขายกิโลกรัมละ 28 บาท โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มจะสามารถทำเงินได้ประมาณ 11,200-14,000 บาท ซึ่งหากนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบเล่นๆ กับราคาข้าวที่ต้องขายให้กับพ่อค้าที่ไม่ใช่ราคารับจำนำ จะขายได้ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อตัน(1,000 กิโลกรัมข้าวเปลือก ซึ่งจะลดเหลือประมาณ 660 กิโลกรัมหรือ 2 ใน 3 ส่วนเมื่อสีเป็นข้าวสาร) ตัวเลขนี้ถือว่าต่างกันลิบลิ่วนะครับ หากเป็นคุณจะเลือกแบบไหน ระหว่างข้าว 1,000 กิโลกรัม ที่ขายเป็นข้าวเปลือกในราคา 6,000-7,000 บาท หรือข้าวที่นำไปผ่านการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีนแล้วขายได้ในราคาสูงถึงประมาณ 37,000 กว่าบาท
มาว่ากันที่ขั้น
ปลายน้ำ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของธุรกิจกันครับ ขั้นปลายน้ำเป็นขั้นตอนส่วนสุดท้ายของธุรกิจครบวงจรนี้ครับ เป็นขั้นของการนำผลผลิตนับตั้งแต่ เส้นขนมจีน ไก่ ปลา ผัก เครื่องปรุงประกอบอาหารอื่นๆ มาสู่ผู้บริโภคโดยตรง ทางกลุ่มได้เปิดร้านอาหารเพื่อจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกกลุ่มให้กับคนทั่วไป ร้าน “เศรษฐกิจพอเพียง ปลายน้ำ”น่าจะเป็นร้านอาหารทางเลือกสำหรับคนที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี อาหารมีให้เลือกหลายอย่าง โดยเฉพาะเมนูขนมจีน มีให้เลือกทั้งน้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำยาแกเขียวหวานไก่บ้าน น้ำยาน้ำพริก มีเมนูก๋วยเตี๋ยวกสิกรรม ข้าวคลุกกะปิ ส้มตำ มีขนมไทยไว้ตบท้ายหลังอาหาร มีน้ำอัญชัน น้ำฝาง น้ำตะไคร้ น้ำย่านาง ไว้เสิร์ฟให้ชุ่มคอ
ถึงตรงนี้คำว่า “ธุรกิจ” ที่คุณวาดได้เป็นแบบไหนครับ และยังจะสงสัยต่อไปหรือไม่ครับว่า อาหารที่คุณกินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้มาจากไหน ?
หากยังสงสัยอยู่เหมือนเดิมก็ไม่ต้องแปลกใจอะไรครับ เพราะตัวผมเองก็ยังคงสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ร้านอาหารที่ผมไปฝากท้องอยู่ประจำ หรืออาหารที่ผมซื้อวัตถุดิบมาประกอบเองนั้นมาจากไหน เขาปลูกกันอย่างไร และอะไรต่อมิอะไร แต่ที่ผมไม่สงสัยแม้แต่น้อยก็คือ อาหารของเขาเหล่านี้ “กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม” มาจากไหน
ในท้ายที่สุดผมว่า แม้รายละเอียดหลายประการของชาวนากลุ่มนี้ยังอยู่ในขั้นของการทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น แต่หลายอย่างกำลังเดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม และคงเป็นตัวอย่างธุรกิจในแบบฉบับของชาวนาให้ชาวนาด้วยกันที่สนใจ เข้ามาไปเรียนรู้ได้ ขึ้นอยู่กับว่า.... ชาวนาที่สนใจแนวทางนี้..พร้อมหรือยัง ?
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 8 สิงหาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.