กระแสการตอบรับของนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจจากสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่อแนวคิดของกระทรวงการคลัง ในการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่หลายฝ่ายเล็งเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะหาก คสช.ต้องการสะสาง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังมานาน จนปะทุเป็นความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมอย่างที่ผ่านมา ภาษีที่ดินซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับฐานะของคนจนได้ ดูจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แม้จะมีคำถามแกมสงสัยกันอยู่ว่า คสช.จะกล้าผลักดันภาษีที่ดินออกมาจริงหรือ
ล่าสุดจากการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินของนักการเมือง ที่รวบรวมจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เดือนมิถุนายน 2556 และการคำนวณของ ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ขับเคี่ยวกันมานาน อย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย อดีต ส.ส.ของสองพรรคนี้ มีที่ดินอยู่ในมือมูลค่ารวมกันถึง 1.36 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87 ของมูลค่าที่ดินที่อดีต ส.ส.พรรคการเมือง 11 พรรค มีมูลค่ารวมกัน 1.56 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่ดินที่อดีต ส.ส.ของสองพรรค 433 คน มีรวมกัน 3.05 หมื่นไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของที่ดินที่ อดีต ส.ส.ของ 11 พรรคมีรวมกัน 3.57 หมื่นไร่ เห็นได้ชัดว่าที่ดินไปกองรวมกัน อยู่ในมือของอดีต ส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีโอกาสขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ถ้าพิจารณาที่ดินที่มีเฉลี่ยต่อราย อดีต ส.ส. ภูมิใจไทยกับชาติพัฒนา ก็ไม่น้อยหน้าอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์และเพื่อไทยเช่นกัน
ในจำนวนคนที่มีโฉนดที่ดิน 15.9 ล้านคน กลุ่มคนที่มีที่ดินมากที่สุด มีที่ดินมากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยหรือน้อยมากถึง 325 เท่า โดยเฉพาะเศรษฐีที่ดินที่มีโฉนดที่ดินถึง 631,263 ไร่ เป็นที่ดินถือครองที่ใหญ่เท่าๆ กับจังหวัดอ่างทองทั้งจังหวัด หรือมากกว่าสองเท่าของจังหวัดสมุทรสงครามเลยทีเดียว
ในขณะที่คนไทยอีก 7.9 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของคนที่มีโฉนดที่ดิน มีที่ดินกันคนละไม่ถึง 1 ไร่ เท่านั้น
เห็นได้ชัดว่า บ้านเราไม่ได้สะสางปัญหาเรื่องที่ดินถือครอง จนทำให้นักการเมืองและเศรษฐีที่ดิน ซื้อที่ดินกักตุนไว้จำนวนมาก เพราะยิ่งมีมากก็ยิ่งมีกำไร กลายเป็นปัญหาที่ดินกระจุกตัว ส่งผลกระทบตามมา ทั้งความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการเก็งกำไรที่ดินเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยที่ประเทศไม่ได้รับประโยชน์ ไม่เกิดการลงทุนและเงินหมุนเวียนในระบบ ที่สำคัญไม่เกิดการกระจายรายได้ให้กับคนที่มีรายได้น้อย อย่างเกษตรกรและชาวนา
คนที่มีโฉนดที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ซึ่งมีอยู่จำนวน 3.4 หมื่นราย ควรมีภาระในการเสียภาษีที่ดินเพื่อให้รัฐนำเงินภาษีมาสร้างคุณประโยชน์กับสังคม หรือให้สวัสดิการกับคนที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน ทั้งคนชั้นกลางและเกษตรกรรายย่อย เพราะที่ดินราคาแพง คนชั้นกลางจึงย้ายไปอยู่นอกเมือง ซื้อคอนโดแคบๆอาศัยอยู่ และเกษตรกรต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนา
การผลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดิน จำเป็นต้องผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ข้อมูลการถือครองที่ดิน และข้อมูลการถือครองที่ดินการเกษตรในสังคมไทย ยังไม่ได้ถูกเปิดเผย ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครถือครองที่ดินจำนวนมากเท่าไร
ปัญหานายทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยกว่า 100 ล้านไร่ (โดยเฉพาะพื้นที่ริมชายหาด และริมทะเลฝั่งอ่าวไทย) ตามที่ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ รศ.ปิยะนุช โปตะวณิช จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ออกมาเปิดเผยเมื่อหลายปีก่อน จึงเกิดขึ้นได้จริง เพราะสังคมไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ข้อมูลการถือครองที่ดินไม่ได้ถูกเปิดเผยให้เป็นสาธารณะ การถือครองที่ดินผ่านตัวแทนอำพราง (นอมินี) ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้
การถือครองที่ดินของนายทุนไทยกว่าครึ่งล้านไร่ และนายทุนต่างชาติกว่า 100 ล้านไร่ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง กับการถือครองที่ดินของเกษตรกรและชาวนาไทย ที่ต้องทำกินบนที่ดินที่ติดจำนองนายทุนถึง 29.8 ล้านไร่ และทำกินบนที่ดินที่ต้องเช่าคนอื่น 29.2 ล้านไร่ ที่เหลือส่วนใหญ่อีก 47.6 ล้านไร่ ก็ทำกินในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำกินกับญาติ และหาอาชีพเสริมรับจ้าง เลี้ยงชีวิตไปวันๆ
ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2554 คณะรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรป ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ให้เปิดเผยข้อมูลที่ดินทั้งประเทศเป็นข้อมูลสาธารณะ โดยนำข้อมูลที่ดินที่ส่วนราชการต่างๆ มีอยู่ เช่น ข้อมูลโฉนดที่ดิน ข้อมูล น.ส.3 และข้อมูลอื่นๆ ของกรมที่ดิน มาจัดระบบเป็นฐานข้อมูลที่ดินทั้งประเทศ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้ แต่เรื่องนี้ก็มีอันต้องพับไป เมื่อมีการยุบสภาในเดือนพฤษภาคมถัดมา
ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินที่มีสูงมากในสังคมไทยขณะนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงความแตกต่างของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม อย่างเกษตรกรหรือชาวนากับเศรษฐีที่ดินเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการรายใหญ่ กับผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มีช่องว่างสูง จนเกิดปัญหาปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่รอดได้ยาก การสะท้อนของนักธุรกิจรายเล็ก ที่ต้องการให้เก็บภาษีที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินของนักธุรกิจรายใหญ่ที่ครอบครองที่ดินหลายแสนไร่แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องของคนหลายกลุ่มในสังคมมากขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องสะสางปัญหาการถือครองที่ดิน
เรื่องภาษีที่ดินและการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน แม้พูดกันมาแล้วหลายยุคสมัย แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหน มีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการซื้อเสียงเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พอถึงเวลาต้องผลักดันจริงจัง ก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรงกันไปเสียหมด
อย่างไรเสีย ตราบเท่าที่ยังมีผู้ขันอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่รับอาสาจะดูแลปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ไขข้อขัดแย้งของคนภายในประเทศ ให้มีความสงบสุขดังเดิม คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนจะต้องผลักดันเพื่อให้คนที่มีอำนาจมองเห็น และแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องการถือครองที่ดิน เพราะที่ดินคือพื้นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ ของการก้าวต่อไปของสังคมที่มีคุณภาพ ที่ทุกคนควรจะได้รับโอกาสในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.