วันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค) และชาวนาจากสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ได้ไปแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญาไท อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่แก้ปัญหาหนี้ด้วยแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ จนแก้ไขปัญหาหนี้ได้สำเร็จ และรักษาที่ดินไว้ได้
ป้าสำเนียง ฮวดลิ้ม ประธานกลุ่ม เล่าไว้อย่างน่าฟังว่า "การเป็นหนี้ทรมานที่สุด แต่การโดนยึดที่ดินเลวร้ายกว่า เพราะหมายถึงการไม่มีที่ซุกหัวนอน" หนี้สินของป้าสำเนียงและครอบครัวมีทั้งหมดเกือบ 10 ล้านบาท จากการไปกู้เงินธนาคารมา 4 ครั้ง ครั้งแรกนำมาลงทุนปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะม่วง ครั้งที่สองกู้มาเลี้ยงไก่ไข่ ครั้งที่สามกู้มาเลี้ยงหมู ปลาดุก และครั้งสุดท้ายกู้มาเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง "แต่ทุกอย่างที่ทำกลับขาดทุนและเจ๊งไม่เป็นท่า หนี้สินเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับไว้ได้ เพราะผลผลิตที่ออกมา ขายไม่ได้ราคา"
เมื่อมองย้อนกลับไป ป้าสำเนียงบอกว่า "เกษตรกรลงทุนทำทุกอย่าง ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีรายได้ที่แน่นอน แต่บางเรื่องเกิดจากความสะเพร่า เพราะไม่มีความรู้และทักษะในอาชีพที่ทำเพียงพอ สุดท้ายจึงมีบทเรียนว่าการกู้เงินจากธนาคารไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ มีแต่สร้างหนี้เพิ่ม กลายเป็นชีวิตบนกองหนี้"
ป้าสำเนียง ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในปี 2542 ครั้งหนึ่งแกได้มีโอกาสไปร่วมอบรมกับอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี และเกิดสะท้อนใจเมื่อได้ฟังสิ่งที่อาจารย์พูด "พวกคุณหวังแต่ให้คนอื่นเขาช่วย ทำไมคุณถึงไม่ช่วยตัวเอง บรรพบุรุษเคยทำอะไร ทำไมไม่ไปคิดค้นทบทวน" (สิ่งที่เกิดขึ้นในใจแกตอนนั้นคือ ถ้าคิดออกแล้วจะมาหาอาจารย์ทำไมเนี่ย) แต่ก็แปลก หลังจากนั้นป้าสำเนียงนำถ้อยคำที่อาจารย์พูด มาขบคิดอยู่ตลอดเวลา จนย้อนคิดไปว่าในสมัยก่อนพ่อกับแม่มีอาชีพทำนาและทำขนมจีนขาย ทำไมแกไม่ทำ
ปี 2547 ป้าสำเนียงในนามกลุ่มแม่บ้านจึงของบประมาณจาก อบต.เตาปูนและอำเภอโพธาราม 80,000 บาทเพื่อซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทำเส้นขนมจีน แต่ตอนนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ขายขนมจีนไม่ได้ เพราะเส้นดำ และไม่เหนียวพอ จึงได้ปรับสูตรใหม่ เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่ดีขึ้น มีคนสั่งขนมจีนเข้ามาเยอะขึ้น จนตอนนี้ป้าสำเนียง ผลิตขนมจีนขายวันละ 500 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ28 บาท
ในเวลาไล่เลี่ยกันกับการซื้อเครื่องมือทำเส้นขนมจีน ป้าสำเนียงตัดสินใจซื้อโรงสีขนาดเล็กไว้ด้วย เพื่อสีข้าวสำหรับทำเส้นขนมจีน แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจคือ คุณภาพข้าวสำหรับทำขนมจีนที่ไม่ปลอมปน ได้แกลบ รำ ปลายข้าว เอาไปเป็นส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยน้ำหมัก ปุ๋ยจุลินทรีย์ จำหน่ายให้กับสมาชิกกลุ่ม
กลุ่ม "คนรุ่นใหม่ด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญาไทย" เกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งมีคนรุ่นใหม่อย่าง กฤษณะ ฮวดลิ้ม เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน กฤษณะเล่าให้เราฟังว่า เป้าหมายของกลุ่มวางไว้ว่า "ต้องพึ่งตนเอง ปลูกให้พอกิน แก้ปัญหาหนี้ รักษาที่ดินไว้ให้ได้" กลุ่มทำงานร่วมกันโดยวางแผนการทำงานแบบองค์รวม ดูแลตั้งแต่ปัจจัยเบื้องต้นของการทำนา (ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยอินทรีย์) การแปรรูป (โรงสี,ขนมจีน) และนำผลผลิตที่ได้ออกวางจำหน่าย(ร้านค้า) การทำเช่นนี้มีข้อดีคือสามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณการผลิตได้
ในปี 2553 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ซื้อหนี้ของป้าสำเนียงจากธนาคารกรุงไทยในวงเงิน 1,250,000 บาท ทำให้ขณะนี้ครอบครัวป้าสำเนียงย้ายมาผ่อนชำระหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แทน ในวงเงินปีละ100,000 บาท แม้จะใช้เวลามากกว่า12 ปี กว่าโฉนดที่ดินเนื้อที่15 ไร่ จะกลับมาอยู่ในมือ แต่ป้าสำเนียงก็มีความหวังว่าที่ดินผืนนี้จะเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ทำกินกันต่อไป
ด้วยการตั้งเป้าหมายที่การพึ่งตนเองเพื่อรักษาที่ดินและแก้ปัญหาหนี้สินให้ได้ กลุ่มของป้าสำเนียงจึงหันมาใช้กระบวนการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ทำจุลินทรีย์ใช้เอง จากนาหว่านเปลี่ยนมาสู่นาดำ เลิกเผาซังข้าว ใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายฟางข้าว เหลือต้นทุนทำนาต่อไร่ไม่เกิน 2,400 บาท กลุ่มยืนยันกับสมาชิกไว้ว่า หากใจแข็งอดทนทำนาอินทรีย์ต่อเนื่องได้ 4 รอบการผลิต รับรองว่าสมาชิกจะติดใจ และจะไม่กลับไปทำนาเคมีอีก ปัจจัยสำคัญคือเริ่มต้นจากสิ่งที่เกษตรกรมี
ตอนนี้กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 29 ราย มีที่นารวมกัน 30 ไร่ สมาชิกเลือกปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 20 ไร่ ที่เหลือเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ซึ่งกลุ่มได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิก โดยให้เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรง ไม่ได้ให้เป็นเงินสด กลุ่มมีผลผลิตข้าวประมาณปีละ 80 เกวียน โดยซื้อข้าวจากสมาชิกและให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดที่ 1,000 บาทต่อเกวียน และจ่ายเป็นเงินสดให้สมาชิกเพื่อสร้างแรงจูงใจ สำหรับสมาชิกที่เริ่มต้นทำนาอินทรีย์ หากกลัวจะได้ผลผลิตน้อย กลุ่มได้ประกันผลผลิตไว้ให้ 70 ถังต่อไร่ ถ้าได้ผลผลิตต่ำกว่านี้ กลุ่มจะชดเชยส่วนต่างให้
กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญาไทย เปิดร้าน "เศรษฐกิจพอเพียง ปลายน้ำ" ทีอำเภอโพธาราม เพื่อเป็นช่องทางนำผลผลิตของสมาชิกออกมาจำหน่าย มีสินค้าชูโรงเป็นขนมจีนน้ำยา มีแปลงสาธิตปลูกข้าว เพาะเห็ด แปลงผักปลอดสาร ร้านนี้ตั้งต้นด้วยการขายหุ้นให้สมาชิกหุ้นละ 100 บาท เพื่อนำเงินมาเป็นทุนตั้งต้น
เพราะ "หนี้สิน" แท้ๆ ที่ทำให้ชาวนากลุ่มนี้รวมตัวกัน แต่พวกเขาเรียนรู้ร่วมกันจนต่อยอดเป็นภูมิปัญญาแก้ไขปัญหาของชาวนาได้ พวกเขาได้แต่หวังว่าสักวัน ประเทศไทยจะมีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นหนทางปลดหนี้ และรักษาที่ดินไว้ให้อยู่ในมือชาวนา อย่างเป็นรูปธรรม
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 25 กค.57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.