ข่าวการขีดเส้นตายให้ชาวบ้านชุมชนเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยภายในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างความไม่สบายใจให้กับองค์กรและกลุ่มคนหลายฝ่ายที่ติดตามปัญหาการไร้ที่ทำกินของเกษตรกร เนื่องจากกังวลว่าหากเกษตรกรถูกอพยพออกจากพื้นที่ที่อาศัยอยู่ขณะนี้แล้ว หน่วยงานราชการได้มีแผนรองรับการอพยพที่ดีพอ คัดกรองเกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน และจัดสรรที่ดินที่เพียงพอให้กับเกษตรกรที่ขาดแคลนที่ทำกินเหล่านี้หรือไม่
อันที่จริงปัญหาความขัดแย้งไม่ลงตัวในการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2520 และเป็นปัญหาที่ไม่แตกต่างจากชุมชนอีสานอีกหลายแห่ง ที่เกษตรกรไม่มีความมั่นคงด้านที่ดินทำกิน เนื่องจากชุมชนอีสานถูกอพยพโยกย้ายโดยหน่วยงานราชการหลายครั้ง ด้วยเหตุผลของความมั่นคงบ้าง เหตุผลของการอนุรักษ์พื้นที่ป่าบ้าง หรือแม้แต่เหตุผลของการที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เมื่อหน่วยงานราชการต้องการใช้พื้นที่เพื่อโครงการต่างๆ เช่น โครงการสร้างศูนย์ราชการ โครงการสร้างเขื่อน และอื่นๆ
ความเศร้าใจที่หลายชุมชนเหล่านี้ต้องเผชิญ ก็คือหน่วยงานราชการมักจะให้คำมั่นสัญญากับเกษตรกรว่าจะจัดสรรที่ทำกินชดเชยให้กับพวกเขา มีเกษตรกรจำนวนมากในหลายจังหวัดรอและหวังว่าส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร อำเภอ จังหวัด จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา แต่ในพื้นที่หลายแห่งก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เกษตรกรอีสานในหลายพื้นที่จึงเหมือนถูกหลอกให้รอ กลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินและไร้ความหวัง
ไม่แตกต่างจากชุมชนเก้าบาตรและอีกหลายที่ในภาคอีสาน ที่สุดท้ายเกษตรกรเหล่านี้ก็หาทางออกเอง ด้วยการเข้าไปเพาะปลูกในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ว่างที่ไม่มีใครใช้ประโยชน์ และจบลงด้วยการถูกส่วนราชการดำเนินคดี ติดคุก หรือถูกอพยพอีกเป็นครั้งที่เท่าไร ก็จำไม่ได้
คำถามสำคัญคือ จะอพยพเกษตรกรเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนได้อีก พื้นที่ถูกตารางนิ้วในบ้านเรา ล้วนมีเจ้าของจับจองแล้วทั้งนั้น ถ้าไม่ได้เป็นของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย ก็มีเกษตรกรรายอื่นทำกินอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นที่ทางของส่วนราชการที่มีอยู่จำนวนมากเหลือเกิน หรือว่าจะให้พวกเขาไปบุกรุกพื้นที่ป่า และถูกจับกุมอีก
มันคงเป็นเรื่องน่าตลกที่จะตั้งคำถามว่า สรุปแล้วบ้านเราไม่มีหน่วยงานราชการ ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน (แบบ one stop service) ในการจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรยากจน หรือแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกินใช่ไหม ถ้ามีอยู่จริง หน่วยงานราชการเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เวลาเกษตรกรเหล่านี้ถูกอพยพโยกย้ายออกจากที่ทำกินเดิม ครั้งแล้วครั้งเล่า
พื้นที่ประเทศไทยที่มีอยู่ ร้อยละ 40 หรือประมาณ 130 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนคนที่มีอันจะกิน ย่อมมีโอกาสถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์มากเท่าไรก็ได้ แต่พื้นที่อีกร้อยละ 60 หรือประมาณ 190 ล้านไร่ เป็นที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ที่บอกว่ามีอยู่จำนวนมาก และพื้นที่เหล่านี้นี่ล่ะ ที่มักมีปัญหาเป็นกรณีขัดแย้งเรื่องแย่งที่ดินกัน มีคดีพิพาทฟ้องร้องขับไล่เกษตรกรให้ออกจากพื้นที่ ในบางกรณีมีการฟ้องคดีแพ่งเพิ่มอีกกระทงเรียกให้จ่ายค่าเสียหายให้หน่วยงานรัฐ
ในพื้นที่ 190 ไร่ ที่หน่วยงานราชการดูแลอยู่นี้ แบ่งออกเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประมาณ 35 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งรวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติอยู่ในนี้ด้วยแล้วประมาณ 145 ล้านไร่ ดูแลโดยกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และที่เหลืออีกประมาณ 10 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งดูแลโดยกรมธนารักษ์
ไม่มีใครทำข้อมูลสถิติไว้ชัดเจนว่า มีเกษตรกรไร้ที่ทำกินเข้าไปจับจองพื้นที่เพาะปลูก ทำกินในที่ดินรัฐเหล่านี้มากน้อยเพียงใด มีเพียงตัวเลขคร่าวๆ ซึ่งน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ว่ามีเกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 184,710 ราย มีเกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน 340,000 ราย มีเกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน 5,426 ราย และยังมีเกษตรกรบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ บุกรุกที่ราชพัสดุ บุกรุกที่นิคมสร้างตนเอง ที่ไม่ทราบจำนวนรายที่ชัดเจนอีก
เป็นไปได้ว่า ถ้านับรวมพื้นที่รัฐที่เกษตรกรเหล่านี้เข้าไปจับจองทำกินรวมๆ แล้วน่าจะหลายสิบล้านไร่ เพราะลำพังตัวเลขสถิติเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ที่เป็นทางการของสำนักงานสถิติแห่งชาติปัจจุบันก็เกือบหนึ่งล้านครอบครัว จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 5.9 ล้านครอบครัว ไม่นับรวมพื้นที่กว่า 40 ล้านไร่ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุชัดว่า เกษตรกรทำกินในพื้นที่คนอื่น โดยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่ได้จ่ายค่าเช่า ซึ่งหมายรวมถึงทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินรัฐอื่น ส่วนที่รวมถึงที่ดินได้ทำฟรีโดยไม่ได้จ่ายค่าเช่าคงมีไม่มากนัก
ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่จัดสรรที่ดินให้กับคนจน ไม่แก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานราชการไม่มีวันจบ มิหนำซ้ำการฟ้องร้องดำเนินคดีความกับคนยากคนจนเรื่องการบุกรุกที่ดิน ก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ ไม่มีวันลดลง
บ้านเมืองเราก็แปลกประหลาด แทนที่หน่วยงานราชการจะมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข เอื้ออำนวยให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและความสุขของคนในชาติ แต่หน่วยงานราชการกลับทำหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดี แย่งที่ดินกับเกษตรกรคนจนเสียเอง แล้วมันจะมีความสงบสุขได้อย่างไร
หน่วยงานราชการทุกหน่วย ควรมีหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกร หรือหากมีที่ดินในความรับผิดชอบดูแลอยู่จำนวนมาก ก็ควรทำหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรยากจน ไม่ใช่ไปแย่งที่ดินกับเขา ไปขับไล่เขาออกจากพื้นที่ และอ้างว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ของหน่วยงานตนเอง ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่
เพราะว่าการขับไล่อพยพเกษตรกร ออกจากพื้นที่หน่วยงานตนเอง ก็เท่ากับการปัดภาระให้พ้นตัว แต่ไม่ได้ใส่ใจ รับผิดชอบต่อประเด็นในทางสาธารณะและสังคมว่า เกษตรกรเหล่านี้จะมีที่ทำกินต่อไปในอนาคตอย่างไร พวกเขาจะไปบุกรุกพื้นที่ของหน่วยงานราชการอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของตนเองหรือไม่ แก้ปัญหาแบบนี้ มันก็ไม่มีทางจบ
เหมือนกับชุมชนเก้าบาตร ที่เดินอยู่บนเส้นทางแก้ปัญหาที่ดินมาแล้ว 37 ปี ก็ยังวนกลับมาที่ปัญหาเดิมอีกจนได้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.