เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับก่อนหน้า (ฉบับที่ 1151) ผมได้หยิบยกเรื่องราว 120 วันของการทำนาเคมีกับนาอินทรีย์ของชาวนาภาคกลาง จังหวัดชัยนาท มาเปรียบเทียบให้เห็นต้นทุนการผลิต ของการทำนาทั้งสองประเภท ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร (อ่านย้อนหลังได้ตามเว็บไซต์ด้านล่างครับ) รวมถึงอะไรคือนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า 'กำไรจากการทำนา'
รอบนี้ผมอยากจะหยิบยกกรณีตัวอย่างชาวนาในพื้นที่ศึกษาจังหวัดชัยนาท ที่ผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนมาเล่าให้ฟัง กลุ่มชาวนากลุ่มนี้ชื่อว่ากลุ่มเกษตรครบวงจรบ้านใหญ่ อำเภอสรรคบุรี เป็นกรณีที่น่าสนใจครับ เพราะเป็นกลุ่มชาวนาที่เริ่มทดลองปรับตัวเรื่องวิธีการผลิต เพื่อลดต้นทุนการทำนา โดยมีเครื่องมือที่สำคัญที่เรียกว่าบันทึกการทำนา 120 วัน
ลุงเบี้ยว ชาวนารายหนึ่งของกลุ่มนี้บอกผมว่า 'ชาวนาทุกวันนี้ ทำนาต้องรู้จักตัวเอง สังเกตตัวเอง ต้องคอยจดต้นทุนว่าลงทุนทำอะไรไปบ้าง ต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับก็ไปไม่รอด มีแต่ตายกับตาย' "เหตุผลที่ต้องปรับตัว เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกวัน ชาวนาต้องถามตัวเองว่า เราจะลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร "
ด้วยคำถามนี้แหละครับจึงเป็นเหตุให้ชาวนาในพื้นที่ศึกษา หามาตรการในการลดต้นทุนการผลิต จากเดิมที่มีแต่จ้างกับจ้าง แต่ตอนนี้ชาวนาที่นี่ เอาแรงงานของตัวเองและครอบครัวเข้าไปทำงานในแปลงนามากขึ้น เพื่อที่จะจ้างแรงงานข้างนอกให้น้อยลง ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานในครอบครัวทำงานในแปลงนามากขึ้นก็คือ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของชาวนาที่นี่ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ต้องจ้างแรงงานหมดทุกขึ้นตอน ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 6,500-7,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต แต่ ณ ตอนนี้ ต้นทุนการผลิตของชาวนาที่นี่ เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 4,262 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิตเท่านั้น
ตัวเลขต้นทุนการทำนา 4,262 บาท แยกรายละเอียดออกเป็นค่าเช่านา 1,007 บาทต่อไร่ (ชาวนาส่วนใหญ่มีที่นาของตัวเองน้อยครับ ส่วนมากเช่าที่นาคนอื่นทำนา) ค่าปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ 1,167 บาทต่อไร่ ค่ายากำจัดศัตรูพืชและยากำจัดวัชพืช 349 บาทต่อไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ 483 บาทต่อไร่ ค่าไถเตรียมนา 333 บาทต่อไร่ ค่าจ้างแรงงานที่ยังพึ่งพิงภายนอกอยู่บ้าง 882 บาทต่อไร่ และค่าใช้จ่ายอื่น 41 บาทต่อไร่ รวมต้นทุนการผลิตที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็จะได้ตัวเลข 4,262 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่ชาวนาพอจะรับได้ครับ
ค่าจ้างแรงงานที่ยังพึ่งพิงภายนอก 882 บาทต่อไร่ ถือว่าไม่สูงมาก หากเปรียบเทียบกับชาวนาที่ต้องจ้างแรงงานหมดทุกขั้นตอน ต้นทุนค่าจ้างแรงงานจะสูงถึง 1,500-2,000 บาทต่อไร่ นี่เป็นเหตุผลที่ชาวนาในพื้นที่นี้ พยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้สามารถยึดอาชีพทำนาต่อไปได้
แต่ผมมีข้อสังเกตนิดหน่อยนะครับ ตรงที่ว่าแม้ชาวนากลุ่มนี้จะลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานลงไปได้มากแล้วก็ตาม แต่ค่าใช้จ่าย 3 ตัว คือ ค่าเช่านา ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยเคมี ยังมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมด เพราะต้นทุนค่าเช่านา ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยเคมี 3 ตัว นี้ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 62 ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด โดยค่าเช่านา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 หรือ 1 ใน 4 ของต้นทุนทั้งหมด ค่าปุ๋ยเคมี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 และค่าเมล็ดพันธุ์คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 11
ชาวนากลุ่มนี้ ถือว่าเป็นชาวนารายย่อย เพราะทำนาเฉลี่ยครอบครัวละ 15-20 ไร่ เท่านั้น ซึ่งรวมถึงนาเช่าแล้วด้วย รายที่ทำนาน้อยที่สุดคือ 2 ไร่ รายที่ทำนามากที่สุดคือ 40 ไร่ ในกลุ่มชาวนา 39 รายที่เราสัมภาษณ์ มีชาวนาที่ไม่ต้องเช่านาเพียง 14 ราย ที่เหลือ 25 ราย หรือ ร้อยละ 65 ต้องที่เช่านาเพิ่มทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะมีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว
ผมคิดว่า การจดบันทึกอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวนาสามารถมองย้อนกลับ มองเห็นตัวเองและวิถีการทำนาของตัวเองได้ดีมากขึ้น ว่าตลอด 120 วัน พวกเขาได้ทำอะไรไปบ้าง ลงทุนอะไร มีต้นทุนที่ต้องจ่ายไปกับนาเป็นตัวเงินเท่าไร และถ้าทำได้ก็ควรบันทึกต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินว่ามีอะไรบ้าง ทำเช่นนี้แล้ว พวกเขา ก็สามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นว่า ทำนาแล้วกำไรหลังการขายข้าวของพวกเขามีจริงหรือเปล่า เป็นอย่างไร
หลังจากครบ 120 วัน เมื่อชาวนากลับมาเปิดดูบันทึกของตัวเอง พวกเขาอาจจะได้คำตอบก็ได้ครับว่า พวกเขาควรจะเลือกเดินทางไปบนเส้นทางเดิมหรือเส้นทางใหม่ อะไรคือเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาอยู่ในวังวนหนี้ และเมื่อถึงเวลานั้น หนทางในการลดต้นทุนการผลิตหรือสลัดคำว่าหนี้สินออกจากชีวิตชาวนาอาจจะแจ่มชัดขึ้น หรือเป็นไปได้ ก็ได้นะครับใครจะรู้ เหมือนกับที่ชาวนากลุ่มเล็กๆ ในจังหวัดชัยนาทกลุ่มนี้กำลังทดลองทำอยู่
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 11 ก.ค. 57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.