ช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เติมเต็มความรู้เรื่อง 'ข้าวพื้นบ้าน' ให้ตัวเองมากขึ้น ผ่านบทความชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า 'ข้าวพื้นบ้าน ปราการสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน'
หลังจากอ่านบทความชิ้นนี้จบ ตามนิสัยของความอยากรู้อยากเห็น ผมจึงสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ อย่างไม่น่าเชื่อครับว่า บ้านเรามี 'ข้าว' ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นอาหารหลักของมนุษย์กว่า 4,000 ล้านคนทั่วโลก หลากหลายสายพันธุ์เอามากๆ ผมขอไล่เรียงเฉพาะชื่อพันธุ์ข้าวบางชนิดที่ผมสนใจ มาพอเป็นตัวอย่างของความหลากหลายเท่านั้น เริ่มจากพันธุ์ข้าวที่เรารู้จักกันดีคือ ข้าวหอมมะลิ ตามด้วยข้าวเล้าแตก ข้าวสันป่าตอง ข้าวอีด่าง ข้าวเจ้าแดง ข้าวปะกาอำปึน ข้าวแผ่แดง ข้าวสายัญ ข้าวหวายเวียง ข้าวแดงซวง ข้าวดอดอกติ้ว ข้าวเปิดน้ำ ข้าวหมากข่วง(มังกรแดง) ข้าวคำผาย ข้าวขี้ตมใหญ่ ข้าวขาวกุง ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวมันเป็ด และข้าวฮ่าวแดง ทั้งหมด 20 สายพันธุ์
หากผมลองตั้งคำถามเล่นๆ ว่า เราซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยที่เป็นผู้บริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณ 150-300 กิโลกรัมต่อคนต่อปีนั้น เรารู้จักข้าวกี่สายพันธุ์
ข้าวทั้ง 20 สายพันธุ์ที่ผมหยิบยกขึ้นมาให้เห็นนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้นนะครับ เพราะยกมาทั้งหมดคงไม่ไหวแน่ ผมสนใจสายพันธุ์ข้าวเหล่านี้เนื่องจากว่า เป็นข้าวพื้นบ้านที่ชาวนาปลูกกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด แต่ปัจจุบันข้าวหลายสายพันธุ์เริ่มหดหายลงไปเรื่อยๆ มีปลูกเฉพาะบางพื้นที่ บางสายพันธุ์ก็เกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว และบางสายพันธุ์ก็สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
ที่พันธุ์ข้าวเหล่านี้หายไปอาจมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุหลักน่าจะอยู่ที่ว่า พันธุ์ข้าวเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยพันธุ์ข้าว กข เลขต่างๆ ที่ว่ากันว่าให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าข้าวพื้นบ้านดั้งเดิม จริงหรือครับ ผมอยากให้ท่านลองตั้งคำถามดู ผมเองก็ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ชัดเจนมากคือ ภาพชาวนาภาคกลางที่หันมาปลูกข้าว กข กันเกือบจะทั้งหมด ถ้าข้าว กข. ทำรายได้มากมายดังที่ว่า แล้วทำไมชาวนาภาคกลางถึงเป็นหนี้เป็นสิน ทบต้นทบดอกมากมายมหาศาลเช่นนี้... คงได้แต่ปล่อยให้เป็นคำถามเอาไว้ครับตรงนี้
ย้อนกลับไปที่ตอนต้นของบทความครับว่า 'ข้าวพื้นบ้าน ปราการสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน' 'ดาวเรือง พืชผล' บอกว่า"นิยามของความมั่นคงทางอาหาร คือ สามารถผลิต แลกเปลี่ยน เข้าถึงทรัพยากรเองได้ มีความอิสระที่จะผลิตและรักษาพันธุ์ได้เองโดยเฉพาะ พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน" อ่านประโยคนี้จบ ผมคิดแทนชาวนาภาคกลางว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ชาวนาภาคกลางจะกลับมาค้นหาและปลูกข้าวพันธุ์ท้องถิ่น หรือจะยากเกินไปไหมที่ชาวนาภาคกลางจะพัฒนาสายพันธ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นของตนเอง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องซื้อพันธุ์ข้าวปลูกทุกฤดูกาลเหมือนในปัจจุบัน
คิดมาถึงตอนนี้ปวดหัวใจครับ ทุกวันนี้ชาวนาภาคกลางดูเหมือนจะไปไหนไม่รอดแล้ว ปลูกข้าวเองยังต้องซื้อข้าวคนอื่นเขากิน ทำนาขายข้าวได้ตันละ 12,000 บาท ต้นทุนไร่ละ 7,000 บาท (ไม่รวมค่าแรงตัวเอง) นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายต่อเดือนยังสูงลิบลิ่ว เป็นเกษตรกรผู้ปลูกอาหารแต่กลับต้องพึ่งพาอาหารจากคนอื่น แถมชาวนามากต่อมากที่ต้องเช่าที่นาคนอื่นเขาทำนา หลายรายถึงขนาดต้องขายที่นาเพื่อใช้หนี้ แล้วก็เช่าที่นาแปลงเดิมของตนเองที่เพิ่งขายไปนั่นแหละทำนาต่อ ยากไหมหละครับ
ผมว่าความรู้สึกของชาวนาภาคกลางวันนี้ คงจะประมาณ "อย่ามาพูดกันเลยดีกว่า ความมั่นคงทางอาหาร หรือว่าข้าวพื้นบ้านที่ไม่เคยได้ยินชื่อ ที่ดินจะปลูกข้าวยังแทบจะไม่มี และไอ้ที่มีอยู่ก็เหมือนจะรอ....รอวันที่ ธ.ก.ส. จะมายึดเอามะรอมมะร่อ"
ประเด็นคำถามของผมก็คือว่า หากข้าวพื้นบ้าน คือปราการสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนจริง ชาวนาภาคกลางวันนี้ยังจะพอมีสิทธิ์ลุ้นที่จะมั่นคงกับเขาบ้างไหม (อันนี้ถามท่านผู้ที่กำลังจดจ้องสายตาอยู่บนหน้านี้) หรือชาวนาภาคกลางอยากจะลองเริ่มต้นทำข้าวพื้นบ้านดูบ้างไหม(อันนี้ถามชาวนาภาคกลาง) แล้วฝ่ายรัฐจะทำอะไรได้บ้างเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชาวนาภาคกลาง (อันนี้ถามรัฐ) ส่วนตัวผม ขอตั้งคำถามย้อนแย้งแบบคิดไม่ตกว่า ปราการสู่ความมั่นคงทางอาหารของชาวนาภาคกลาง แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่....
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.