การบริจาคข้าวสารเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเงินรับจำนำข้าวของเครือข่ายชาวนา พร้อมกับการแถลงของกลุ่มชาวนาที่ว่า เหตุจำเป็นที่ต้องออกมาเรียกร้องเงินรับจำนำข้าว
ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีเงินจะซื้อข้าวกินแล้ว ปรากฏการณ์นี้อาจจะทำให้คนในเมืองจำนวนหนึ่งประหลาดใจ เหตุใดชาวนาบ้านเรา ถึงต้องใช้เงินซื้อข้าวกิน ทั้งๆ ที่เป็นผู้ปลูกข้าวขายเอง ชาวนาน่าจะมีข้าวเปลือกจำนวนมากเก็บไว้ที่บ้าน รวมถึงน่าจะสามารถขายเป็นทุนรอน เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ในเงินรับจำนำข้าวของตนเองครั้งนี้ด้วยซ้ำ
ชาวนาไทยปลูกข้าวได้ถึงปีละ 21 ล้านตัน ในจำนวนนี้ ส่งออกไปขายปีละประมาณ 8 ตัน และบริโภคเองภายในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน ส่วนที่เหลือคือสต็อกข้าว ตัวเลขการผลิตข้าวและสต็อกข้าวที่สูงเช่นนี้ ไม่ได้แปลความเท่ากับ คนไทยทุกคนมีข้าวกินอย่างพอเพียง และชาวนาไทยมีข้าวเก็บไว้บริโภคตลอดทั้งปี
ชาวนาบ้านเราซื้อข้าวกินมานานแล้ว โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ที่ปลูกข้าวส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศและธุรกิจค้าข้าวมายาวนาน ในขณะที่ชาวนาภาคอีสานและภาคเหนือ มีแนวโน้มลดพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวที่ตนเองใช้บริโภค หันมาปลูกข้าวเจ้าเพื่อขาย และซื้อข้าวสารกินมากขึ้นตามลำดับ
รายจ่ายค่าอาหารของชาวนา ซึ่งรวมค่าข้าวสารเข้าไปด้วย จึงสูงถึง 43-55 เปอร์เซ็นต์ ของรายจ่ายทั้งหมดในครอบครัว โดยจะสูงมากในกลุ่มชาวนาเช่า ชาวนารับจ้างและชาวนาไร้ที่ดิน และน้อยลงในกลุ่มชาวนาที่ปลูกพืชผสมผสานและทำเกษตรอินทรีย์
ในพื้นที่ศึกษาเรื่องภาวะหนี้สินชาวนาภาคกลาง ในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายจ่ายค่าอาหารของชาวนาสูงถึง สัปดาห์ละ 1,428 บาท และ 2,090 บาท กลับกลายเป็นว่า ในพื้นที่ที่ชาวนาปลูกข้าวเพื่อขายและส่งออกมาก ชาวนาจะมีรายจ่ายค่าอาหารและค่าข้าวสารเพิ่มมากขึ้น เพราะพื้นที่ที่เคยผลิตอาหารเลี้ยงครอบครัว ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวขายเป็นรายได้แทน
เหตุผลที่ทำให้ชาวนาไม่เก็บข้าวไว้บริโภคเอง แต่กลับขายออกทั้งหมด มีอยู่หลายประการ แต่ที่สำคัญสองอย่างคือ การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ ชาวนาบ้านเรา สมัยก่อนทำนาปีละ 1 ครั้ง ปัจจุบันทำนาปีละ 2-3 ครั้ง หรือ 5 ครั้งในรอบ 2 ปี ด้วยเหตุที่ต้องเร่งรีบ ขั้นตอนการผลิตข้าวที่เคยใช้แรงงานคนในครอบครัว ก็เปลี่ยนมาว่าจ้างรถแทรกเตอร์ไถนาและเกี่ยวข้าวแทน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ก็เปลี่ยนจากพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ทนแล้งและทนน้ำหลาก มาเป็นข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่ที่ตอบสนองต่อปุ๋ยและสารเคมี
การใช้พันธุ์ข้าวปรับปรุงใหม่ ทำให้ชาวนาต้องเกี่ยวข้าวในช่วงที่ข้าวยังชื้นสด สีเขียวใบพลับพลึง เพราะข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่ หากเกี่ยวในช่วงที่ข้าวแห้งเกินไป จะทำให้เมล็ดข้าวร่วงและน้ำหนักที่ได้จะเบา ชาวนาจึงขายข้าวที่เกี่ยวมาทั้งหมดให้กับโรงสี เพราะถ้าเก็บไว้แล้วข้าวจะเน่า แตกต่างจากชาวนาสมัยก่อน ที่เกี่ยวข้าวด้วยมือ มีเวลาตากข้าวให้แห้ง เก็บข้าวทีละเป็นฟ่อน เอามาตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง และเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง
ชาวนาสมัยนี้ เมื่อขายข้าวแล้ว จึงไม่มีทั้งปลายข้าว รำข้าว และแกลบเหลือไว้ใช้ รวมทั้งต้องรื้อยุ้งฉางออก เพราะไม่มีข้าวที่จะเก็บอีกต่อไป ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของชาวนา จึงขึ้นอยู่กับรายได้จากการขายข้าว อันเป็นหลักประกันทางรายได้เพียงแหล่งเดียวที่มีอยู่
นี่เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ชาวนาต้องซื้อข้าวกิน และยอมไม่ได้หากพวกเขาถูกรัฐบาลเพิกเฉย ล่าช้าต่อการจ่ายเงินรับจำนำข้าว ที่พวกเขาควรจะได้เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก รายงานวิจัยภาวะหนี้สินชาวนาภาคกลาง นัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดิน และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม: กลุ่มโลโคลแอค 2556, ข้าว ปลา อาหาร และชุมชน: ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน 2545
ตีพิมพ์ ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.