ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม "ที่ดิน" จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกร กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ว่า "มีหน้าที่ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ดำเนินการให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง"
แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ได้ระบุไว้ชัดเจนพร้อมทั้งเปิดกว้างให้ความสำคัญกับสิทธิของเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง แต่นโยบายและกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ขณะนี้กลับค่อนข้างล้าหลังไม่ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะกฎหมายภาษีที่ดินที่ควรจะถูกนำมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดิน
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายภาษีที่ดินเพียงสองฉบับที่มีอยู่ มีปัญหาด้านฐานภาษีในการจัดเก็บค่อนข้างแคบ เนื่องจากใช้ค่าเช่ารายปีเป็นฐานภาษี จัดเก็บที่ร้อยละ12.5 ของค่าเช่าต่อปี และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่วน พรบ.ภาษีบำรุงท้องที่ใช้อยู่นั้น กฎหมายกำหนดให้ใช้ฐานราคาปานกลางของที่ดินเมื่อปี 2521 – 2524 เป็นฐานภาษี ทำให้ที่ดินราคาต่ำกว่าความเป็นจริงไม่สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน ทำให้คนทั่วไปสามารถถือครองที่ดินจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีนี้น้อยมาก
ช่วงที่ผ่านมามีการผลักดันเคลื่อนไหวให้มีการเก็บภาษีที่ดินและภาษีทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนในสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ติดขัดที่นักการเมือง นายทุนนักเก็งกำไรที่ดิน ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเร่งเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อบริหารจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ เน้นให้ผู้มีรายได้มากเสียภาษีให้มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ใช้บริการสาธารณะจำนวนมาก(ไฟฟ้า ประปา และขยะ) โดยไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย และจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งพิจารณาภายใน 1 เดือน
แม้ คสช.และหน่วยงานรัฐ ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ยังไม่ได้ออกมาให้ความชัดเจนว่าจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร แต่ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกผลักดันโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาแล้วนับสิบปีแต่ยังไม่สำเร็จ ควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นพิจารณา ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้เสียภาษี และให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกคนที่อยู่ในท้องถิ่น ได้มีส่วนช่วยเสียภาษีเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
ร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีทั้งหมดไว้ 3 อัตราคือ 1.อัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไปไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี 2. อัตราภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยโดยไม่ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี 3. อัตราภาษีสำหรับผู้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี ส่วนกรณีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร ใน 3 ปีแรก ให้เสียภาษีไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี หากยังมิได้ทำประโยชน์อีกให้เสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าในทุก 3 ปีแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี และจะพิจารณากำหนดอัตราภาษีในทุก 4 ปี
หากร่าง พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ฐานของผู้เสียภาษีกว้างและเป็นธรรมมากขึ้นซึ่งครอบคลุมถึงอาคารชุดด้วย รายได้จากการจัดเก็บภาษีจะเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ และอาจเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลไม่ปล่อยที่ดินทิ้งร้างเพราะมีภาระทางภาษีตามมา
อย่างไรก็ตามในมุมมองของภาคประชาชน ยังมองเห็นว่า ร่าง พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดิน ภาคประชาชนจึงผลักดันร่าง พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า สำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้จัดเก็บภาษีที่ดิน ตามขนาดการถือครองที่ดินและลักษณะการใช้ประโยชน์ และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เพิ่มขึ้นทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานภาษี และเมื่อตั้งธนาคารที่ดินแล้วให้นำเงินภาษีที่เก็บได้ เข้าสู่ธนาคารที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนอย่างละครึ่ง สิ่งสำคัญที่จะตามมาเมื่อพรบ.ภาษีที่ดิน เหล่านี้ประกาศใช้ ก็คือ ฐานข้อมูลการถือครองที่ดินของทุกคนในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตควรเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้เฉกเช่นเดียวกับนานาประเทศ
ในขณะนี้ร่างพรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าได้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆขณะที่ร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นได้ยากในรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย จึงน่าสนใจว่าในห้วงเวลานี้ที่ คสช. ขึ้นมาบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ดิน จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ดังที่ถูกคาดหวังไว้จากหลายภาคส่วนได้หรือไม่
เขียนโดย สมจิต คงทน /s.khongton@gmail.com
ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 27 มิถุนายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.