ฟุตบอลโลก 2014 เปิดตัวนัดแรกไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ประเทศบราซิล บอลโลกน่าจะเป็นกระแสฮิตที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับประเทศไทย
ที่กำลังเจอกับสถานการณ์ไม่ปกติภายในได้มิใช่น้อย และหากจะบอกว่า กระแสที่กำลังฮิตติดชาร์ตในบ้านเรา ณ ตอนนี้ ซึ่งไม่แพ้กระแสบอลโลกก็คือ กระแสการเดินหน้า "คืนความสุขให้คนในชาติ"ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็น่าจะพอไหว เนื่องจากผมเห็นกระแสดังกล่าวปรากฏอยู่ในหน้าสื่อทุกวัน
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยกับชาวนาอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "ภาวะหนี้สินที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาภาคกลาง" ที่ผมกำลังดำเนินการอยู่ หลังจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวนาอย่างเข้มข้นถึงสารพันปัญหาของชาวนาราว 4 ชั่วโมง ผมอดคิดไม่ได้ว่า 'จะมีวิธีการไหนบ้างนะ ที่ คสช.จะคืนความสุขให้กับชาวนาได้บ้าง' และความสุขที่ว่าไม่ควรเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นนะครับ อีกทั้งไม่ใช่เพียงการหาเงินมาคืนให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว แต่ควรเป็นความสุขที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว เช่น การสนับสนุนปัจจัยการผลิตในแบบที่ชาวนาไม่ต้องพึ่งพิงตลาด การสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อทำตลาดข้าวโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางแต่ส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภคได้เลย หรือมาตรการอื่นที่สามารถลดต้นทุนการผลิตของชาวนาได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้โดยต้องไม่มองข้ามการฟื้นฟูระบบนิเวศผืนนาภาคกลาง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับชาวนาผู้ที่ต้องการทำนาอินทรีย์หรือนาปลอดสารเคมี และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเป็นลำดับต้นก็คือ จะทำอย่างไรให้ชาวนาหรือผู้ที่ต้องการจะทำนานั้น มีที่นาเป็นของตนเองแบบไม่ต้องเช่าเขาทำ
การลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวนา ผมเห็นปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ก็เหมือนจะย่ำอยู่กับที่ ยังไม่เห็นมีรัฐบาลไหนใส่ใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที นั่นก็คือปัญหาต้นทุนการผลิต ชาวนาที่มาร่วมประชุมราว 20 คน ให้ข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตการทำนาแบบเคมี กับการทำนาแบบอินทรีย์ว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และจากการพูดคุยพบว่าต้นทุนการทำนาต่างกันถึงประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต คือการทำนาแบบเคมี มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 6,500-7,000 บาทต่อไร่ ขณะที่การทำนาแบบอินทรีย์มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 4,500-5,000 บาท ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนที่สูงที่สุดคือค่าเช่าที่นา ซึ่งอยู่ที่ 2,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต หากไม่ต้องจ่ายค่าเช่านา ต้นทุนการทำนาแบบเคมีจะเหลือเพียง 4,500-5,000 บาท และต้นทุนการทำนาแบบอินทรีย์จะเหลือเพียง 2,500-3,000 บาท เพราะต้นทุนค่าเช่านามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25-30 ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด ซึ่งไม่น้อยเลย
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของชาวนาในอำเภอหันคา อยู่ที่ประมาณ 750 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาในช่วงการรับจำนำ) นั่นแสดงว่าหากชาวนามีรายได้จากการขายข้าวประมาณ 9,750 บาทต่อไร่ ถือว่าชาวนามีกำไร 3,250 บาทต่อไร่สำหรับนาเคมี และ 4,750 ต่อไร่ สำหรับนาอินทรีย์
มีความจริงที่ผมยังไม่ทันได้บอกก็คือว่า กำไรที่ว่ามานี้ยังไม่ได้รวมค่าแรงงานนะครับ ซึ่งชาวนาต้องดูแลแปลงนาทุกวันตลอด 120 วันโดยเฉลี่ยของอายุข้าว ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต แรงงานในครอบครัวเฉลี่ยมี 2 คน ที่ต้องดูแลแปลงนาทุกวัน มาถึงตรงนี้...คุณลองคิดดูครับว่าคุ้มค่าแรงไหม
กลับมาที่กระแสคืนความสุขให้กับคนในชาติของคสช. นอกจากมาตรการหลากหลายที่ คสช.คืนความสุขให้กับคนในชาติ ไม่ว่าด้วยการให้ช่อง 5 และช่อง 7 ถ่ายทอดสดบอลโลกเพื่อให้คอบอลไทยดูฟรีกันทุกนัด และให้คอภาพยนตร์ได้ดูตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 5 ฟรี และยังมีมาตรการอื่นๆ อีก
ผมคิดว่าหากจะมีสักมาตรการที่จะคืนความสุขให้กับชาวนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง เรื่องการสนับสนุนให้ชาวนาหันมาทำนาแบบอินทรีย์ เรื่องการลดต้นทุนค่าเช่านา หรือการสนับสนุนส่วนต่างเพื่อให้ชาวนาสามารถลดต้นทุนการผลิต ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยนะครับ
ตีพิมพ์ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 มิ.ย.57
ผู้เขียน :: เมธี สิงห์สู่ถ้ำ - matrix111777@yahoo.com
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.