“ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ” เป็นหลักการที่ถูกนำมาใช้อธิบายการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้เกิดมลพิษซึ่งจะต้องรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เพิ่มเติมจากการดำเนินคดีทางอาญาเพียงอย่างเดียว เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อป้องปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการประยุกต์หลักการใครก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายมาใช้ในข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นผู้ทำให้เกิดก๊าชซัลเฟอร์ไดออกไซด์และภาวะฝนกรด การเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้การนำแนวคิดและเครื่องมือนี้มาใช้จะเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แต่มาตรการนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่มีคำถามและปัญหาในทางปฏิบัติอยู่หลายประการ เช่น คนกลุ่มไหนบ้างจัดว่าเป็นผู้ก่อมลพิษที่จะต้องจ่าย จะประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นตัวเงินที่เหมาะสมได้อย่างไร หรือ มีทางเลือกอื่นในการรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม นอกจากการจ่ายเงินบ้างหรือไม่
สำหรับประเทศไทย หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายและการเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมถูกนำมาใช้ในคดีที่เกี่ยวกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดการคิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ เพื่อประเมินมูลค่าความเสียหายของป่าต้นน้ำ ประกอบด้วย ๑) ค่าเสียหายในการทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย ๒) ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ๓) ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ ๔) ทำให้ดินสูญหาย ๕) ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น ๖) ทำให้ฝนตกน้อยลง ๗) มูลค่าความเสียหายทางตรงจากการทำลายป่า ๓ ชนิด โดยพื้นที่ป่า ๑ ไร่ คิดมูลค่าความเสียหายประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
ปัจจุบันมาตรการและการคิดค่าเสียหายดังกล่าว ถูกนำไปบังคับใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ข้อมูลเมื่อปี ๒๕๕๓ ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยระบุว่า มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ๓๔ ราย มูลค่าความเสียหายที่ถูกเรียกร้องสูงถึงกว่า ๑๓ ล้านบาท มีชาวสวนขนาดเล็กหลายรายถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทจากการทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเองเพียงไม่กี่ไร่ ขณะที่ไม่พบว่าในประเทศไทยมาตรการดังกล่าวถูกนำไปใช้บังคับกับผู้ใช้ที่ดินรายใหญ่หรือภาคอุตสาหกรรมที่มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นหลายประการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการนำแบบจำลองมาบังคับใช้กับเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะข้อกล่าวหาการคิดค่าเสียหายจากการทำให้อากาศร้อนมากขึ้นและค่าเสียหายจากการทำให้ฝนตกน้อยลง อันเป็นที่มาของคำว่า “คดีโลกร้อน”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุหลักมาจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มากกว่าการใช้พื้นที่ทำกินในภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำเกษตรในแปลงเล็กๆ อย่างชาวสวน หรือชาวไร่ อีกทั้งการตีมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็นตัวเงินของแบบจำลอง ไม่ได้คิดมาจากการทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญหายประเมินมาจากจำนวนรถบรรทุกน้ำที่จะบรรทุกน้ำขึ้นไปฉีดพรมพื้นที่ ก่อนที่จะนำมาคูณด้วยอัตราการเช่ารถบรรทุกน้ำ ค่าเสียหายจากการทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศที่จะทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ป่าลดลงหรือเย็นขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีการดำเนินการจริงแต่อย่างใด
นักวิชาการจากหลายสาขาต่างให้ความเห็นตรงกันว่า การใช้วิธี “หาต้นทุนในการทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป” ในลักษณะแบบจำลองนี้ อาจไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังไว้ เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรจะต้องคิดจากต้นทุนในการทำให้ทรัพยากรกลับมาอยู่ในสภาพเดิม เช่น หากมีการตัดไม้ทำลายป่าจะต้องคิดต้นทุนในการฟื้นฟูสภาพป่าให้มาอยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิม
อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อโต้แย้งในทางวิชาการอยู่อย่างมาก แต่ปัจจุบันกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชยังคงใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้โดยเฉพาะ หลายกรณีพิพาท มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านต้องชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมนับแสนบาทโดยที่มิได้มีการไต่สวนพิสูจน์ถึงความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งอาจจะเกิดจากการรับสารภาพหรือการไม่มีทนายความที่ช่วยเหลือในการต่อสู้คดี หลายกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเสียเอง เมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นมูลค่าของสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงได้ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนซึ่งอาจไม่ได้สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมตามรายละเอียดแบบจำลองที่ได้มีการจัดทำขึ้น
ดังนั้น แม้การนำหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย มาปรับใช้เป็นเครื่องมือปกป้องสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่มีการประยุกต์นำหลักการนี้มาใช้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและไม่ได้นำไปบังคับใช้กับกลุ่มคนที่เป็นต้นตอของความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงแล้ว หลักการและเครื่องมือดังกล่าวอาจกลายเป็นต้นตอของความขัดแย้ง สร้างความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกรรายย่อยที่ไม่ใช่ผู้ทำลายทรัพยากรตัวจริง ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะยังคงถูกทำลายจากผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต่อไป
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 6 มิถุนายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.