มหกรรมประชาชนอาเซียน (ASEAN People’s Forum) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ประเทศมาเลเซีย ครั้งล่าสุดได้จัดขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้พม่าเป็นประธานอาเซียนและเป็นครั้งแรกที่จัดงานนี้ขึ้น โดยเป้าหมายของงานมหกรรมประชาชนอาเซียนมีขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน ในการสร้างสันติภาพ ประชาธิปไตย ความปรองดองในชาติ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ การเมืองและขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนจากมหกรรมครั้งนี้คือ “ความเป็นจริงของอาเซียน” ในอีกแง่มุม ที่อาจไม่ได้เปิดเผยบ่อยนัก ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกประเทศ ได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงในประเด็นที่พวกเขาถูกกีดกันในสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับ โดยเฉพาะจากประชาชนชาวพม่าที่เข้าร่วมในเวทีครั้งนี้
ประชาชนชาวพม่าบอกว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้พม่ากำลังอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกทางหนึ่งว่าพม่าไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจทหารแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ การแสดงออกทางการเมืองยังคงถูกควบคุม และยังมีการจับกุมผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายล้างทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ จากทุนขนาดใหญ่ การแย่งยึดที่ดินของชาวบ้านไปทำเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรม ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศพม่า
คำว่า “OUR LAND IS OUR LIFE” จึงเป็นข้อความสัญลักษณ์ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในงานมหกรรมนี้ ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกแย่งยึดที่ดินโดยรัฐบาลและทุนต่างชาติ จากการนำเสนอของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ สาเหตุการแย่งยึดและการกว้านซื้อที่ดินในพม่าและกัมพูชาซึ่งถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยที่ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นมีปัจจัยสงผลที่สำคัญจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศ
ประเด็นของความรุนแรงและผลกระทบต่อชาวบ้านยังถูกขยายผลและระดมความเห็นต่อเนื่องในวันที่สองของการสัมมนา ซึ่งมีการประชุมห้องย่อย (workshop) ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยเฉพาะในประเด็นการลงทุนขนาดใหญ่และการแย่งยึดที่ดิน ในพื้นที่บางแห่ง ถึงกับมีการใช้กำลังทหารไล่รื้อชุมชนให้ออกไปจากที่ดินทำกินเดิมโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ในบางพื้นที่ มีการติดป้ายแจ้งให้ย้ายออกจากพื้นที่โครงการภายใน 14 วัน มีการบังคับให้เซ็นชื่อ ถ้าใครไม่ลงชื่อหรือไม่ยอมออกจากที่ดินก็จะไม่ได้ค่าชดเชย
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าได้เริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนเมื่อปี ค.ศ.2008 บริษัททุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนมีทั้ง จีน ไทย และญี่ปุ่น โดยการลงทุนที่ใหญ่สุดคือ ธุรกิจด้านพลังงาน มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน โดยเฉพาะได้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone : DSEZ)) ใช้งบประมาณในการลงทุน 524 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้การสร้างท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษส่งผลกระทบต่อชุมชน 20 แห่งมีผู้เดือดร้อนจำนวนกว่า 30,000 คน
สำหรับประเทศกัมพูชา ผู้ประสานงานองค์กรเอกชนทื่ชื่อว่า Forestry Rights ได้นำเสนอปัญหาการแย่งยึดที่ดิน โดยกล่าวว่ากัมพูชาได้เปิดให้สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจตั้งแต่ ปี ค.ศ.2005 ให้กับบริษัทต่างชาติที่ไปลงทุนประกอบด้วย จีน เวียดนาม เกาหลี และไทย จำนวน 343 บริษัท ใน 13 จังหวัด ในพื้นที่ทั้งหมด 2,036,170 เฮกตาร์ หรือประมาณ 12.3 ล้านไร่ โดยพืชที่ปลูกมากที่สุดคือ ยางพารา กระถินณรงค์ และมันสำปะหลัง ซึ่งกระบวนการให้สัมปทานที่ดินส่วนใหญ่ยังไม่มีความโปร่งใส มีการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิที่ดินของประชาชนชาวกัมพูชา รวมถึงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ก็ไม่ได้เปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง กระบวนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 30 วันเท่านั้น การให้สัมปทานที่ดินในประเทศกัมพูชา ได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารและที่ดินน้อยลง ป่าไม้ถูกทำลาย ในปี ค.ศ. 2011 มีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 425 คน ถูกจับกุม 95 คนและถูกจำคุก 48 คน
แม้ที่ดินจะเป็นปัจจัยสำคัญทางการผลิต ของเกษตรกรรายย่อยทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นและได้รับการส่งเสริมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไล่รื้อ แย่งยึดที่ดินไปจากเกษตรกร กลับไม่ได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ในการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องของโครงการ หรือให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพวกเขา ทั้งๆที่สุดท้ายแล้ว พวกเขาจะไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่ที่อยู่อาศัย อาหารเพื่อปากท้อง วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่จะต้องถูกพรากไป
เสียงประชาชนในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน จึงคาดหวังจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนในระดับอาเซียน ที่จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ร่วมกันถึงข้อจำกัดทางนโยบายและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุนต่างชาติ รวมไปถึงความร่วมมือกันของภาคประชาชนในการสร้างกระบวนการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นหนทางแก้ไขปัญหาในอนาคตและร่วมสร้างอาเซียนในวิถีที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคประชาชนได้จริง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.