ที่ดิน คือฐานทรัพยากรที่สำคัญต่อการอยู่อาศัยและการทำมาหากินอย่างมั่นคงของเกษตรกรรายย่อยในสังคมไทย หากเกษตรกรรายย่อยไม่มีความยั่งยืน ขาดทุนจากการผลิต จนที่ดินหลุดมือเป็นของนายทุนและนักค้ากำไรที่ดินจนเกือบหมด ณ วันนั้น ที่ดินซึ่งเป็นพื้นฐานของอาหารและการเกษตร อาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือปล่อยให้เสื่อมโทรม ทิ้งร้างว่างเปล่า จนพื้นที่ผลิตอาหารหดหาย กลายเป็นวิกฤตอาหารราคาแพง ที่กระทบต่อสวัสดิการและความมั่นคงทางอาหารของคนในสังคมไทยก็เป็นได้
นี่เป็นเหตุผล ของการทำงานศึกษาของกลุ่มส่งเสริมเกษตรครบวงจร (แบบชาวบ้าน) กลุ่มชาวนาในจังหวัดชัยนาท สมาชิกสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย ที่ร่วมมือกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ในการศึกษาสถานภาพการถือครองที่ดินของสมาชิกชาวนาในพื้นที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยมีสมมติฐานว่า การยังคงดำรงอาชีพเกษตรของชาวนา และการมีที่ดินถือครองของชาวนารายย่อย คือหลักประกันต่อความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอของคนในสังคม
นอกจากงานศึกษาชิ้นนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามข้อมูลสถานภาพการถือครองที่ดินของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันแล้ว ยังจะสามารถนำไปใช้ขยายผลและและสื่อสารรณรงค์ทั้งในองค์กรเกษตรกรและสาธารณะวงกว้างได้ด้วย
ชาวนาในพื้นที่อำเภอสรรคบุรีได้แบ่งหน้าที่กันในเก็บรวบรวมข้อมูล โดยออกแบบแบบสอบถามสำหรับตัวแทนสมาชิกจำนวน 60 คน (ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกทั้งหมด) และใช้เวลาในการเก็บข้อมูลในช่วงกลางเดือนธันวาคม จนถึงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และนี่คือบางส่วนของงานศึกษา สถานภาพการถือครองที่ดินของชาวนาจำนวน 60 ครอบครัว ในอำเภอสรรคบุรี
ผู้ตอบแบบสอบถาม สมาชิกกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เท่าที่เห็นแทบจะไม่มีผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย อย่างต่ำที่สุดก็จบชั้นประถมศึกษา ครอบครัวเป็นครอบครัวเล็กๆ มีสมาชิกประมาณ 3-4 คนเป็นส่วนใหญ่ จะมีบ้างเพียงสองสามรายที่เป็นผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียวและไม่มีรายได้ของตัวเอง รายได้มักจะได้จากลูกหลานให้ และเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุจากภาครัฐ เดือนล่ะไม่กี่ร้อยบาท ครอบครัวที่มีบุตรส่วนใหญ่จะส่งเสียสมาชิกในบ้านให้เล่าเรียนพออ่านออกเขียนได้ มีบางครอบครัวที่เห็นความสำคัญของการศึกษามากหน่อย ก็จะส่งลูกให้เรียนจนจบปริญญาตรี ซึ่งมีเพียงไม่กี่ครอบครัว
ผู้ตอบแบบสอบถามสวนใหญ่จะมีอาชีพทำนาเป็นหลักมากที่สุด รองลงมาจะเป็นการรับจ้างในแปลงนา และรับจ้างในภาคเกษตรอื่นที่ไม่ใช่การทำนา ส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามจะไม่ค่อยมีอาชีพเสริม แต่ถ้ามีก็มักจะรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ ไม่ก็จะมีการทำเกษตรอย่างอื่น นอกเหนือจากการทำนา เช่นการทำสวน ทำไร่ ฯลฯ ส่วนการค้าขายนั้นมีน้อยมาก เพียงไม่กี่ราย
รายได้ของครอบครัวชาวนา ที่มาจากภาคการเกษตรส่วนใหญ่คิดเป็นตัวเลขได้ประมาณ 200,000 – 350,000 บาท ต่อปี ไม่เกินจากนี้ ส่วนรายจ่ายเท่าที่เห็นส่วนใหญ่มีมาก เมื่อเทียบกับรายได้แล้ว แต่ละครอบครัวแทบจะไม่มีเงินเก็บเหลือไว้ใช้สอยในยามจำเป็น ค่าอาหารส่วนใหญ่ตกวันล่ะ 100-200 บาทต่อวัน จะมีบ้างสำหรับคนที่อาศัยอยู่คนเดียว ค่าอาหารจะไม่เกินวันล่ะ 100 บาท ส่วนรายการค่าอาหาร ทั้งข้าวสาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง แทบจะไม่มีเลยที่จะไม่ซื้อกิน แต่ก็จะเห็นได้ว่า กับข้าวปรุงสำเร็จและอาหารสำเร็จรูป เป็นสองรายการที่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ซื้อ ทำให้เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านทำอาหารกินกันเองในครัวเรือน มากกว่าที่จะซื้ออาหารที่ทำสำเร็จรูปแล้วมากิน ซึ่งคุณภาพอาหารจากการปรุงด้วยตนเอง ก็น่าจะมีคุณภาพมากกว่าการซื้ออาหารสำเร็จรูปมากิน
ในด้านการลงทุนทางการเกษตร จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านที่ทำนาจ่ายค่าปัจจัยการผลิตแทบจะทุกรายการ ตลอดการทำนาในรอบ 1 ปี มีค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยและค่ายาฆ่าแมลงทุกคน แต่จะมีบ้างส่วนน้อยที่ลดต้นทุนการผลิต โดยการลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่จ้างคนอื่น อย่างการไถดะ ไถพรวน การฉีดพ่นยา ทำให้ลดรายจ่ายต้นทุนการทำนาลงไปได้มาก นอกเหนือจากนี้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน ก็จะมีค่าเช่านาที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีกด้วย จำนวนผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้มักจะอยู่ราว 800 กิโลกรัมต่อไร่ มีเพียงไม่กี่รายที่ผลผลิตน้อยและมากกว่านี้ ราคาขายก็อยู่ประมาณ 7-12บาท ต่อกิโลกรัม และเท่าที่เห็นมีชาวนาเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นในจำนวน 60 ครอบครัว ที่เก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน นอกจากนั้นขายข้าวเปลือกหมดแล้วซื้อข้าวสารกิน
ในด้านข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีชาวบ้านมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่มีที่ดินที่ใช้ทำนาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่ดินเพื่อที่จะทำนา ถ้ามีที่ดินส่วนใหญ่ชาวนาก็มีแค่ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น อีกทั้งมีหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียที่ดินที่เคยใช้ทำนา แทบจะทุกคนมีเหตุผลที่ต้องขายที่ดินเพราะต้องการนำเงินมาปลดหนี้ เมื่อขาดทุนจากการทำนาติดต่อกันหลายปี มีหนี้สินจำนวนมาก ชาวนาก็จะขายที่นา ทำให้เหลือชาวนา ที่ยังมีที่นาเป็นของตนเองน้อยลงเต็มที
งานศึกษาชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงหลายประการ ที่สำคัญคือความเปราะบางในสถานภาพการถือครองที่ดินของชาวนารายย่อย และความเปราะบางทางเศรษฐกิจของชาวนา ที่ไม่มีหลักประกันอะไร ในยามที่เกิดวิกฤตทั้งภัยแล้ง โรคแมลงระบาด หรือแม้แต่ราคาข้าวตกต่ำ ทางเลือกที่พอมีอยู่ ที่ชาวนาพึ่งตนเองได้คือการขายที่นาใช้หนี้ แนวโน้มการสูญเสียที่ดินของชาวนาในพื้นที่ที่ศึกษาจึงสูงขึ้น ปัจจุบันชาวนาในพื้นที่ศึกษามีที่ดินถือครองเฉลี่ยแค่ครอบครัวละ 3-5 ไร่ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่คือที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ที่ทำนา
สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ สัมผัสกับความเป็นจริงในงานศึกษาครั้งนี้ คือได้เห็นความล้มเหลวของภาคเกษตร ได้เห็นถึงข้อเท็จจริง ภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่ทำให้ที่ดินเกษตรกรหลุดมือ หนำซ้ำยังจะต้องมาเช่าที่นาในราคาที่แสนแพง คาดเดาได้ไม่ยากว่าอนาคตเกษตรกรบ้านเรา ส่วนใหญ่คงจะต้องกลายเป็นแรงงานเกษตรไร้ที่ดิน ทำมาหากินแบบรับจ้างหรือเช่าที่ดินคนอื่นทำเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันๆ แบบไม่มีเงินออมหรืออนาคตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลพวงการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มองทุกสิ่งเป็นสินค้า เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นทัศนคติของสังคมทุนนิยมที่เราอาศัยอยู่ปัจจุบัน สำหรับผู้มีทุน ที่ดินจึงมีค่าเป็นเพียงสินค้า ที่มีมูลค่าสูงและมีไว้เพื่อซื้อขายเก็งกำไร ที่ดินในภาคเกษตรบ้านเราจึงกระจุกตัวอยู่ในมือของนายทุนคนส่วนน้อย และเช่นกันอนาคตของความมั่นคงด้านอาหารของคนในสังคม ก็คงจะอยู่ในมือของนายทุนคนส่วนน้อยเหล่านี้ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวนมากเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.