ผลจากการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ทำให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อันประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) และ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
หากเปรียบเทียบกระแสการพัฒนาสามเสาหลักนี้ AEC เป็น “ภาษาทางการพัฒนาแห่งภูมิภาค” ที่คุ้นหูมากกว่าเสาหลักอีกสองด้าน เพราะได้รับความสำคัญจากการเปิดประตูการลงทุนทางธุรกิจและมีการประชาสัมพันธ์จากสื่อทุกแขนงในทุกประเทศอาเซียน รวมถึงทั่วโลกที่กำลังจับตามองการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ คำกล่าวที่ว่า “ก้าวสู่ประชาคม AEC อย่างถ้วนหน้า” จึงเป็นวาทกรรมการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้สึกตื่นตัวและการมีส่วนร่วมจากทุกระดับ ตั้งแต่หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
การตบเท้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในกรณีของประเทศพม่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา (Thilawa Special Industrial Zone – TSIZ) เป็นหนึ่งในสามเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลพม่าจัดสรรให้กับพันธมิตรนักลงทุนต่างชาติ 3 ประเทศ คือ โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa ในเมือง Thanlyin กรุงย่างกุ้ง เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะรัมรีหรือจอกผิ่ว (Kyauk phyu) ตั้งอยู่แถบเมืองจอกผิ่ว รัฐอารากัน ทางตะวันตกของพม่า เป็นการร่วมทุนกับจึน และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี เป็นการร่วมทุนกับไทย
ช่วงต้นปี 2554 รัฐบาลพม่าได้ประกาศใช้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเคมีและเหล็ก อุตสาหกรรมสินค้าจำพวกอิเลคทรอนิกส์ ไอทีและการสื่อสาร โดยแต่ละเขตจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและระบบการขนส่งทั้งถนนและระบบรางเพื่อรองรับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลพม่าได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone – EPZ) ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี กล่าวคือ การยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีแรก ลดหย่อนกึ่งหนึ่ง 5 ปี และอาจลดหย่อนกึ่งหนึ่งอีก 5 ปี หากนำกำไรมาลงทุนในโครงการ
โดยพม่าคาดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวาที่เริ่มเมื่อต้นปี 2554 จะผลิตสินค้าสำหรับทั้งการส่งออกและตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าโครงการทวายมาก แต่ได้เปรียบกว่าโครงการทวายเพราะทิลาวาอยู่ห่างจากย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตร และจะเชื่อมโยงกับท่าเรือเก่าที่ปากแม่น้ำย่างกุ้งได้อย่างดี โครงการทิลาวา ถือหุ้นโดยรัฐบาลพม่าร้อยละ 51 และญี่ปุ่นร้อยละ 49 โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น 3 บริษัทเข้าร่วมเป็นพันธมิตร คือ Mitsubishi, Marubeni และ Sumitomo ทั้งสามบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลก การที่รัฐบาลพม่าสามารถขับเคลื่อนโครงการทิลาวาได้รวดเร็วนั้น เกิดจากความร่วมมือแบบไม่เสียโอกาสร่วมกันระหว่างพม่าและญี่ปุ่น (win-win) ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการติดต่อเข้ามาลงทุนครั้งแรกโดยบริษัททุนในประเทศสิงคโปร์และจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นตกลงจะให้เงินกู้ยืมแก่ประเทศพม่าเป็นจำนวน 51 พันล้านเยน (ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างถนนการผลิตกระแสไฟฟ้าน้ำประปาและเพื่อการพัฒนาโครงการทิลาวา
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังจะให้เงินกู้ยืมอีกจำนวน 2.3 พันล้านเยน (ราว 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรุงย่างกุ้ง ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะยกเลิกหนี้สินที่ประเทศพม่ายังคงค้างชำระกับรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 188.6 พันล้านเยน (ราว 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อีกด้วย
ข้อมูลจากนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนที่จัดขึ้นที่ประเทศพม่าเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้อธิบายอีกด้านหนึ่งของการลงทุนทางเศรษฐกิจเหล่านี้ว่า โครงการเหล่านี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อวิถีชีวิตชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมกับโครงการ รวมทั้งมีปัญหาการแย่งยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินของประชาชนชาวพม่า ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดปัญหาการเกณฑ์แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก
ปัจจัยที่จะสร้างความมั่นใจให้กับก้าวย่างทางเศรษฐกิจ คือ กฎหมายใหม่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ (New Myanmar SEZ Law) โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ได้ลงนามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับล่าสุด หรือที่เรียกว่า "Myanmar Special Economic Zone Law" เหตุผลที่สำคัญที่ทำให้พม่าต้องตรากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใหม่ เนื่องจากต้องการดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น การปรับกติกาเพื่อสร้างความสนใจของนักลงทุนต่างชาติจึงต้องมีมากขึ้น สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจึงต้องสนองตอบต่อนักลงทุนต่างชาติ
เวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าประตูการค้าและการลงทุนได้เปิดต้อนรับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่พม่า กติกาและกฎหมายของประเทศล้วนรับรองและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนผู้มาเยือน ในขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องและสัญญาณแห่งปัญหาจากการลงทุนทางเศรษฐกิจเหล่านี้
ทำให้หวนนึกถึงทัศนะต่อ “กฎหมาย” ของนักปรัชญาในยุคกรีกโบราณท่านหนึ่งที่ได้เปรียบ
ความหมายของกฎหมายไว้ว่า "กฎหมายเปรียบเสมือนใยแมงมุม ที่คอยดักจับเฉพาะสัตว์ที่อ่อนแอ สัตว์ตัวใดที่แข็งแรงก็สามารถหลุดรอดข่ายใยไปได้" ดังเช่นกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ที่รัฐบาลพม่ากำหนดขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาตินี้ กำลังสร้างปัญหาทางสังคมกับประชาชนพม่าที่กำลังอ่อนแอจากการสูญเสียที่ดิน ความหลากหลายแห่งชาติพันธุ์ที่ต้องสูญสลาย และยังทำลายสิ่งแวดล้อมของพม่าที่เปราะบางให้เสียหายอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้
ปิยาพร อรุณพงษ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.