การให้สัมปทานการเช่าที่ดิน (Land Concession) กำลังเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียนอย่างประเทศพม่าโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและการให้สัมปทานการเช่าที่ดินในระยะเวลานาน ได้ทำให้การเกิดการบีบบังคับยึดที่ดินจากประชาชนชาวพม่า โดยปราศจากค่าชดเชยหรือได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมรวมไปถึงความไม่ชัดเจนและความไม่โปร่งใสในผลประโยชน์ที่รัฐบาลทหารพม่าได้รับ
การให้สัมปทานการเช่าที่ดินในประเทศพม่า เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 ที่พม่าประกาศใช้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเดิมเคยให้สัมปทานการเช่าที่ดินกับนักลงทุน 30 ปี ในช่วงแรกหลังจากนั้นสิทธิการได้รับสัมปทานเช่าที่ดินจะแยกตามประเภทของธุรกิจโดยสิทธิการเช่าที่ดินสูงสุดอยู่ที่ 75 ปี ซึ่งให้เฉพาะกับการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้น สำหรับธุรกิจขนาดกลางได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน 60 ปี และธุรกิจขนาดเล็กได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน 40 ปี แต่ล่าสุดกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลพม่าในปี 2557 นี้ นักลงทุนในประเทศพม่า จะได้รับสัมปทานการเช่าที่ดินในช่วงแรกถึง 50 ปีและสามารถยกระดับเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี โดยไม่ได้กำหนดขนาดหรือประเภทของการลงทุนแต่อย่างใดซึ่งหมายถึงนักลงทุนในประเทศพม่าทุกคนมีสิทธิได้รับสัมปทานการเช่าที่ดินสูงสุดถึง 75 ปี การคลอดกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่นี้ ได้ทำให้ภาพความเดือดร้อนของปัญหาที่ดินในประเทศพม่าร้อนแรงและเป็นที่มาของความต้องการพื้นที่เพื่อสื่อสารกับสังคมของภาคประชาสังคมพม่าที่เข้มข้นขึ้น
การประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน (ASEAN People’s Forum 2014)ที่จัดขึ้นที่ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้สะท้อนฐานรากของความตึงเครียดทางการเมือง ข้อถกเถียงทางวัฒนธรรมและความไม่เท่าเทียมกันของสังคมพม่าให้ปรากฏแก่สายตานานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินและปัญหาสิทธิมนุษยชน ที่ถูกเร่งปฏิกิริยาจากการเปิดประชาคมอาเซียน รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการปกครองโดยรัฐบาลทหารในอดีต ระบบการเกษตรในยุคการเปิดประตูบ้านเพื่อพัฒนาประเทศแต่ยังมีการบิดเบือนทางการตลาด การควบคุมการผลิตสินค้าของรัฐ และข้อจำกัดด้านการส่งออกและการจัดซื้อจากรัฐส่วนกลาง
ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ประชาชนชาวพม่าที่เดือดร้อนจากการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทำกินภายหลังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา (Thilawa Special Economic Zone) พื้นที่ 3,170 เอเคอร์หรือประมาณ7,925 ไร่ใกล้เขตเมืองหลวงเก่าย่างกุ้งได้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “พื้นที่ทางสังคม” โดยนำเสนอตัวตนและปัญหาของชุมชนผ่านสื่อและพื้นที่สาธารณะในเวทีการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน
ในระหว่างการประชุมฯ กลุ่มประชาชนชาวพม่าได้แสดงออกถึงการคัดค้านและการไม่ยินยอม (ผ่าน พื้นที่การต่อสู้ของคนซึ่งไม่มีช่องทาง หรือไร้ซึ่งทรัพยากรและอำนาจในระบบการเมืองปกติ)และแสดงให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาชาติเห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้ต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการแล้วอย่างถึงที่สุด ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยอมถูกจับกุมการยอมเสี่ยงอันตรายทำผิดกฎหมายการห้ามชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมดนี้เพื่อให้พวกเขาสามารถมีพื้นที่สื่อสารกับสังคม ที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘การเมืองบนถนน’
กลุ่มคนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่า กลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มคนที่ไร้สิทธิในภูมิภาคต่างๆล้วนมี “ประสบการณ์ร่วม” การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้มีเป้าหมายร่วมกันในการยืนยันถึงสิทธิที่จะดำรงวิถีชีวิต การแสดงออกทางซึ่งอัตลักษณ์ที่แตกต่าง และการเรียกร้องให้มีการเคารพใน“สิทธิของภาคประชาชน”
ปรากฏการณ์การไล่คนออกจากบ้านและพื้นที่ทำกิน ที่กำลังเกิดขึ้นในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศพม่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของสิทธิเสรีภาพในสังคมพม่า ในขณะที่ภาคประชาสังคมและประชาชนชาวพม่า กำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันในสังคมพวกเขาให้ความสำคัญกับ สิทธิที่จะพัฒนาหรือสิทธิที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีดั้งเดิมของชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าด้วย "ความเป็นเจ้าของ" และ "การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง"
การออกมาเรียกร้องของกลุ่มประชาชนชาวพม่า ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงการนำเสนอถึงความวิตกกังวลจากการไร้ที่ดินทำกิน การสูญเสียแหล่งประกอบอาชีพของครอบครัว สังคมและชุมชนที่กำลังจะล่มสลายเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงอัตลักษณ์ ตัวตน (identity) คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์(dignity) ที่กำลังถูกทำลายไปด้วยแม้พวกเขาจะตระหนักดีว่ากำลังต่อสู้และคัดง้างกับกลุ่มอำนาจรัฐและทุนขนาดใหญ่ แต่ในทัศนะของพวกเขาการเรียกร้องและนำเสนอปัญหาต่อสาธารณะ คือจุดคานงัดอำนาจที่สำคัญสำหรับการรับมือกับปัญหาอันหนักหน่วงเช่นนี้ และมันคือโอกาสที่พวกเขาจะได้แสดงถึง “หลักฐานชิ้นสำคัญ” (strong evidences)ในการอธิบายถึงปัญหาและผลกระทบที่พวกเขาได้รับในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ
สิ่งที่น่าสนใจติดตามอย่างต่อเนื่องคือ จุดคานงัดของภาคประชาสังคม และรากฐานประชาธิปไตยของสมาชิกอาเซียนอย่างประเทศพม่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร ในความหมายที่ว่า หากประชาธิปไตยหมายถึง "กระบวนการ" ที่จะได้มาซึ่งข้อตกลงที่เปิดให้หลายฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยนำเสนอความคิดเห็นของตน ถึงแม้ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ข้อตกลงที่ยังตกลงกันไม่ได้ (agree to disagree) และความขัดแย้งจะยังคงดำเนินต่อไปก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญคือ การดำรงอยู่ของความขัดแย้งในสังคมพม่าควรจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพความคิดเห็นและการแสดงออกของกันและกันดังที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่า ได้พยายามออกมาเรียกร้องและแสดงออกอย่างถึงที่สุดต่อสายตาของนานาชาติเพื่อให้มีการรับฟังปัญหาและความเดือดร้อนของพวกเขาในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนนั่นเอง
บทความโดย
ปิยาพร อรุณพงษ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.