เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หัวหนึ่ง อ่านแล้วบอกไม่ถูกเหมือนกันว่ารู้สึกอย่างไร เนื่องจากพออ่านจบ ความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งรู้สึกแย่ เศร้าใจ เสียใจ เห็นใจ โกรธ เคียดแค้นแทนชาวนาต่อกรณีที่เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว ข่าวพาดหัวว่า ‘ชาวนาเดือดร้อนหนัก ธ.ก.ส. สัญญาปากเปล่า’ และความตอนหนึ่งในเนื้อข่าวระบุว่า ‘ตอนนี้ตัวเลขชาวนาที่ยืนยันได้ว่า ฆ่าตัวตายจริงๆ ด้วยเหตุผลจากการไม่ได้เงินจำนำข้าว อยู่ที่ 14 รายจากทั่วประเทศ’ 14 รายที่ว่านี้อาจมีสาเหตุการตายแตกต่างกัน แต่มีต้นเหตุสืบเนื่องไม่ต่างกัน
ผมเริ่มต้นบทความชิ้นนี้จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากข่าวที่อ่าน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้ผมคิดเลยไปถึงชาวนาอีกกลุ่มทางตอนกลางของประเทศซึ่งผมกำลังทำงานศึกษาวิจัยเรื่องการสูญเสียที่ดินอยู่ แน่นอนว่าเป็นกลุ่มชาวนาที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับชาวนากลุ่มอื่นๆ (แต่ยังไม่มีใครฆ่าตัวตายนะครับ) นั่นคือเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวแต่ยังไม่ได้เงินจากโครงการ แต่ข้อแตกต่างของชาวนากลุ่มนี้กับชาวนากลุ่มอื่นก็คือ เป็นชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือพูดให้ชัดๆ ไปเลยก็คือ เขาเหล่านี้บอกว่าตัวเองเป็นชาวนา ทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่พวกเขาต้องเช่าที่ดินทำนานั่นเอง
ผมมีคำถามต่อไปว่า “แล้วหากชาวนาไม่ได้เงินจากการขายข้าว หรือได้มาแล้วถูก ธ.ก.ส. หักเพื่อใช้คืนหนี้เก่าจนเกือบหมด หรืออื่นๆ ชาวนาจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเช่านา แล้วถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า เจ้าของนายังจะให้เช่าต่อไปหรือไม่” ยิ่งเมื่อผมได้รับข้อมูลจากชาวนาหลายรายว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท ทำให้เจ้าของที่นาหลายรายบอกยกเลิกการให้เช่าที่นาด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ จะลงทุนทำนาเอง(เพราะราคาข้าวสูงเอามากๆ เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา) ผลที่ตามมาคือ ชาวนาเหล่านี้จำต้องยอมคืนที่ดินให้กับเจ้าของที่นา ทั้งที่ไม่อยากคืนเลยก็ตามแล้วต้องกลายสภาพเป็นแรงงานรับจ้างในแปลงนาแทน
ผมลองตั้งคำถามเล่นๆ ต่อไปว่า “หากชาวนาเหล่านี้ รู้ว่ามี พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 (ปรับปรุงใหม่เป็น ‘พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524’) ที่สามารถนำมาปัดฝุ่นใช้ได้จริงเขาจะใช้ พ.ร.บ.นี้เรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมตาม พ.ร.บ.นี้เพื่อขอใช้สิทธิ์ทำนาบนที่นาเช่าแปลงเดิมหรือไม่” นี่เป็นคำถามสุดท้ายที่ผมลองถามตัวเองดู แต่ พอผมได้เปิดอ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างจริงจัง ผมถึงได้รู้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิ์ทั้งคนที่เป็นผู้เช่าและผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินใจความสำคัญใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ผมสนใจด้วยเหตุที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามที่ผมได้ว่าไว้ก็คือ ในมาตรา 26 ที่ระบุว่า “การเช่านาให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี”และในมาตรา 31 ที่ระบุว่า “ผู้ให้เช่านาจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาไม่ได้เว้นแต่...”โดยสรุปจาก 2 มาตราที่ผมว่ามาก็คือ เจ้าของที่นาจะบอกเลิกการเช่านาเอาดื้อๆ ไม่ได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่วันดีคืนดีเมื่อข้าวขึ้นราคาเจ้าของนาก็เดินมาบอกเอาดื้อๆว่าจะให้เลิกเช่าที่ทำนา แล้วในฤดูกาลถัดไปจะของเป็นผู้ลงมือทำนาเอง
เหตุการณ์แบบนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก หากเพียงผู้เช่านารวมถึงเจ้าของที่นามีความรอบรู้ เท่าทัน สามารถหยิบจับ กฎหมาย หรือพ.ร.บ. ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็ขอเพียงให้รู้สักหน่อยว่า ในเมืองไทยมี พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านาฉบับนี้อยู่จริงซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อควบคุมและปกป้องสิทธิ์ของคนผู้มีส่วนได้เสียจากการทำนา (ทั้งผู้เช่า และผู้ให้เช่าที่ดิน)
นอกเหนือจากประเด็นการเช่าที่นาแล้ว เนื้อหาส่วนอื่นใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังน่าสนใจอีกหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น ประการแรก ในแต่ละท้องถิ่นจะมีคณะกรรมการของท้องถิ่นกำกับดูแลและดำเนินการตาม พ.ร.บ นี้อยู่ทั่วประเทศ ทั้งคณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการตำบล ประการที่สอง ค่าเช่านาของแต่ท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ จะมีการกำหนดเพดานสูงสุดของค่าเช่าในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าเช่าที่มากเกินควร หรือถ้าปีไหนเกิดภัยธรรมชาติ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองชาวนาเพื่อไม่ให้เป็นผู้แบกรับภาระหนักแต่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังได้บัญญัติไว้ด้วยว่าควรจ่ายค่าเช่านาเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน ประการสุดท้าย เจ้าของที่นาสามารถบอกเลิกการเช่านาได้ในกรณีจำเป็น ซึ่งความจำเป็นดังกล่าวก็ได้ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้เช่นกัน
ผมอ่าน พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับนี้อยู่หลายรอบ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่า หากชาวนาเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วหยิบยกประเด็นสำคัญใน พ.ร.บ. ขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยน และขยายวงให้กว้างออกไป พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสามารถเป็นกุญแจไขปัญหาการบอกเลิกการเช่าที่นา (ที่เจ้าของนาชอบบอกเลิกเอาดื้อๆ)ได้หรือไม่..... สิ่งนี้ยังต้องรอการพิสูจน์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.