ที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนเราทุกคนเพราะทุกคนต้องการมีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ในขณะที่เกษตรกรต้องการที่ดินเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดินจึงมีคุณค่าและมีความสำคัญมากสำหรับอาชีพเกษตรกร
น่าเสียดายที่เกษตรกรจำนวนมาก ยังขาดแคลนที่ดินทำกิน อันเป็นปัจจัยที่สำคัญนี้ทำให้เกษตรกรบ้านเราตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ เมื่อเทียบกับเกษตรกรในประเทศอื่นที่มีการปฏิรูปที่ดินแล้ว
ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรบ้านเรามีมากขึ้น เกษตรกรมีแนวโน้มต้องการขายที่ดินเพราะขาดทุนจากการผลิตและราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ปัจจุบันเกษตรกรบ้านเราร้อยละ 40กลายเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเลย หรือมีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และการสร้างฐานะของเกษตรกร
ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินในบ้านเรา เป็นที่รับรู้กันดีในวงกว้างคนจำนวนมากรู้ดีว่าที่ดินมักถูกเก็บสะสม และกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนและนักการเมือง ผู้ที่มีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดินนั่นเอง
ด้วยเงื่อนไขของระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจเสรีที่เปิดโอกาสให้ใครถือครองทรัพย์สินมากเท่าไรก็ได้ ทำให้กลายเป็นเรื่องยากในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เราจะมีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินของคนในประเทศ (เราเคยมีกฎหมายนี้มาแล้วในอดีต) ทั้งที่กฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินนี้เป็นกฎหมายที่ดีและน่าจะมีคุณประโยชน์มาก สำหรับจำกัดไม่ให้คนมีเงินถือครองที่ดินมากเกินไป และนำที่ดินมากระจายให้กับคนหมูมากที่ต้องการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง เพื่อยกระดับรายได้และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ภาษีที่ดิน จึงกลายเป็นมาตรการและเครื่องมือในยุคเศรษฐกิจเสรี ที่น่าจะพอเป็นไปได้ ในการนำมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายการถือครองที่ดิน และกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินของประเทศให้เกิดความเป็นธรรม
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจถึงฐานการจัดเก็บภาษีกันสักเล็กน้อย การจัดเก็บภาษีโดยทั่วไป มีการจัดเก็บจาก 3 ฐานภาษีด้วยกัน ฐานแรกเป็นฐานรายได้ ที่เรียกกันว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเก็บจากรายได้ ใครรายได้มากก็จ่ายภาษีมาก ใครรายได้น้อยก็จ่ายภาษีน้อยหรืออาจจะไม่ต้องจ่ายภาษีเลย
ส่วนฐานที่สองคือฐานภาษีที่เก็บจากการบริโภค ใครบริโภคมากซื้อของมากก็จ่ายภาษีมาก เช่น ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าเหล้าและบุหรี่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ที่เราเสียอยู่ปัจจุบันอัตราร้อยละ7
ฐานที่สามเรียกว่าฐานทรัพย์สิน เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สิน ใครมีทรัพย์สิน ที่ดิน มรดกจำนวนมากก็จ่ายภาษีมาก ใครมีทรัพย์สิน ที่ดิน มรดกน้อยก็เสียภาษีน้อยหรือไม่เสียเลย
ภาษีทรัพย์สิน และภาษีที่ดิน(จัดอยู่ในประเภทหนึ่งของภาษีทรัพย์สิน) เป็นภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไปใช้เป็นมาตรการในการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งและสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่เป็นเรื่องแปลกที่ในประเทศไทย กลับยังไม่มีการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่มีคนจำนวนมากมีกำลังทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจ่ายภาษีได้ และประเทศก็กำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องการการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษีอย่างเร่งด่วน
ภาษีทรัพย์สินที่ใกล้เคียงมากที่สุดที่บ้านเราจัดเก็บอยู่ปัจจุบันคือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.) ซึ่งเป็นภาษีที่ดิน ที่จัดเก็บในอัตราที่ต่ำและใช้ราคาที่ดินประเมินย้อนหลังไปเมื่อ30 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงรู้วา ราคาที่ดินปัจจุบันกับราคาที่ดินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มันต่างกันมากขนาดไหน
ขออนุญาตขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจ ภาษีโรงเรือนและที่ดินของบ้านเราปัจจุบัน จัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ใช้ค่าเช่ารายปีจากทรัพย์สิน เป็นฐานคิดในการจัดเก็บภาษี ที่ผ่านมารัฐจัดเก็บภาษีตัวนี้ได้น้อย เพราะมีกรณียกเว้นและลดหย่อนภาษีค่อนข้างมาก อีกทั้งปัญหาสำคัญคือไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานค่าเช่ารายปีของแต่ละพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดช่องว่าง ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามความเป็นจริงและเท่าที่ควรจะเป็น
ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ของบ้านเราจัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 จัดเก็บโดยใช้ราคาปานกลางของที่ดินเป็นฐานภาษี ตามหลักการควรจะมีการประเมินราคาที่ดินทุก 4 ปี เพื่อที่จะนำมาเป็นฐานการคิดภาษีที่เหมาะสม แต่ภาษีบำรุงท้องที่ปัจจุบัน กลับใช้ราคาปานกลางของที่ดิน ปี 2521-2524 ซึ่งย้อนหลังไปถึง 30 ปี
ด้วยอัตราภาษีที่ดินที่ต่ำมากในบ้านเราแบบนี้ ทำให้นายทุน นักการเมืองที่ครอบครองที่ดินมากนับพันไร่ เสียภาษีในอัตราเดียวกับตาสีตาสาที่มีที่ดิน 3 ไร่ แถมยังเป็นอัตราภาษีที่คิดบนฐานราคาที่ดินย้อนหลังไปตั้ง 30 ปีโน่น
ในขณะที่ราคาที่ดินโดยเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.34 ต่อปี ส่วนต่างจังหวัดราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดในพื้นที่ภาคใต้(อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว) ร้อยละ 8.06 ต่อปี กรุงเทพมหานครราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.28
ราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมั่นคง และภาษีที่ดินที่จัดเก็บในอัตราที่เฉื่อยชาของบ้านเรา ส่งผลให้คนที่มีเงินเหลือมากพอ เลือกที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร เพราะต้นทุนการเก็บที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร (ภาษี) ต่ำมาก
ส่วนร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกผลักดันมานับสิบปีโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แม้มีอัตราภาษีที่ดินที่แสนต่ำ คือจัดเก็บอัตราร้อยละ 0.5 ในที่ดินที่ถูกทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า ก็ยังถูกขัดขวางและทำให้แท้งมาแล้ว ไม่รู้กี่ยุคสมัยรัฐบาล (ต่อคราวหน้า)
บทความโดย
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.