15,000 บาทต่อตัน คือราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ความชื้อ 15% ของปีการผลิต 2556/2557 ที่รัฐบาลได้ให้คำมั่น(หาเสียง)ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้กับชาวนาทั่วประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการรับจำนำข้าว
แต่พอเอาเข้าจริงดูเหมือนจะล่าช้าออกไปเรื่อยๆ และพอเอาเข้าจริงๆ ดูเหมือนว่าเงินก้อนนั้นแทบจะไกลออกไปจากคำว่า ‘ความจริง’ ทุกทีๆ.... ต่อกรณีนี้หากลองแยกมองออกเป็น 3 มุมเหมือนเหรียญ 3 ด้านว่าอะไรคือปรากฏการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้น อะไรคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และอะไรที่ชาวนาสามารถหยิบฉวยขึ้นมาสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้บ้างในด้านที่ 3 ของเหรียญ หากจะมองว่าเป็นโอกาสของชาวนา...จะมากไปไหม...???
ด้านแรก - ด้านหัวหากมองในตรรกที่ว่า รัฐบาล(รักษาการ)เปิดรับจำนำข้าวชาวนาเอาข้าวมาเข้าโครงการ เรื่องราวก็จะดำเนินไปตามวิถีทางของมัน และยังประโยชน์(ตามแบบฉบับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าประชานิยม)มาสู่ชาวนา คือ1.ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับโครงการจะได้รับเงินตามราคารับจำนำที่ 15,000 บาทต่อตัน(ทุกเมล็ด) 2.ชาวนาสามารถดำเนินชีวิตไปตามปกติ มีเงินทุนไปใช้จ่ายหมุนเวียนภายในครอบครัว โดยเฉพาะมีเงินทุนสำหรับการลงทุนทำนารอบใหม่ 3.เกษตรกรไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม 4.ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ก้อนใหม่ย่อมไม่เกิดขึ้น 5.ชาวนาสามารถหาโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มจากการหารายได้จากอาชีพเสริมเมื่อไม่ต้องมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลหาเงินมาจ่ายตามโครงการ
หากเพียงแต่ว่า โครงการรับจำนำข้าวกลับไม่สามารถดำเนินไปได้ตามครรลอง เหรียญอีกด้านจึงเกิดขึ้น
เหรียญด้านก้อยก็คือ รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้ และ ณ วันนี้ก็ยังไม่มีหลักประกันอะไรที่จะทำให้ชาวนามั่นใจได้เลยว่า อะไรคือหนทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ผลที่เกิดขึ้นและเป็นความจริงแท้แน่นอนก็คือ 1)ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการ 2)ชาวนาผู้มีชีวิตผูกติดอยู่กับแปลงนาไม่เงินทุนสำหรับใช้จ่ายหมุนเวียนในครอบครัว ที่สำคัญคือ ไม่มีเงินลงทุนสำหรับการทำนารอบใหม่ 3)ชาวนาต้องสร้างหนี้ก้อนใหม่ 4)เมื่อมีหนี้ก้อนใหม่ดอกเบี้ยก้อนใหม่ตามมา ปรากฏการณ์ที่ถือว่าหนักหนามากในกรณีที่คล้ายๆกันคือ ชาวนาจำนวนมาก (โดยเฉพาะชาวนาภาคกลาง (สุพรรณบุรี อ่างทอง เพชรบุรี ชัยนาท) ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยด้วย) เป็นผู้ที่มีหนี้สินก้อนเดิมอยู่แล้วซึ่ง ณ ปัจจุบัน มียอดหนี้รวมทั้งสิ้นมากกว่าเงินต้นที่กู้มากว่าเท่าตัวจึงไม่สามารถใช้หนี้ก้อนเดิมให้หมดได้ ที่สุดหนทางที่เสมือนว่าถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติก็คือ การยกเลิกการติดต่อกับเจ้าหนี้ แล้วปล่อยให้ก้อนหนี้ตกอยู่ในภาวะหนี้สินค้างชำระและเกิดเป็นดอกเบี้ยพอกพูนทบต้นทบดอกมานานนับสิบปีจนปัจจุบันไม่สามารถประเมินได้ว่า ยอดสุทธิของหนี้ค้างชำระมากน้อยขนาดไหนซึ่งกรณีแบบนี้จะไม่สามารถไปกู้หนี้ในระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส)ได้ เนื่องจากผิดหลักการของแหล่งเงินกู้ ทางออกของชาวนาเหล่านี้ก็คือ การกู้ยืมหนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยจะสูงกว่า ธ.ก.ส.หลายเท่าตัว เช่น กรณีของนายเฉลิม เอมโอษฐ์ ชาวนา อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ทำนามา 40 กว่าปี ปัจจุบันมีหนี้ค้างที่ ธ.ก.ส.กว่า 400,000 บาท จากเงินต้นที่กู้มาลงทุนทำนาครั้งแรก 200,000 บาท โดยมีที่ดิน 9 ไร่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันยังติดจำนองไว้ที่ ธ.ก.ส. และมีแนวโน้มว่าจะถูกยึดอีกด้วย
มาที่ประเด็นสุดท้ายอันเป็นผลพวงที่เกิดจากความล้มเหลวของโครงการก็คือชาวบ้านต้องลุกออกจากบ้านเพื่อมาตามหาเงินค่าข้าวเปลือก ถนนหนทางสถานที่ราชการและสถานที่อื่นๆหลายแห่งคงไม่ร้อนผ่าวแบบที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ ชาวนาต้องเสียโอกาสหลายอย่างโดยเฉพาะการขาดโอกาสทำมาหากินต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นจากการลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ ไม่มีรายได้แต่กลับต้องมีค่าใช้จ่ายทุกวัน
อย่างไรก็ตามหากลองมองในอีกมุม มองอีกด้านของเหรียญที่มากไปกว่าการมอง 2 ด้านตามความคุ้นชิน จะพบ‘ด้านข้างของเหรียญ’ ซึ่งเป็นด้านที่สามารถนำมาพินิจพิเคราะห์ให้ได้กว้างไปกว่าการจำกัดวงไว้แค่คำว่า ‘ได้’ หรือ ‘เสีย’ ของชาวนา นักการเมือง พ่อค้า นายทุน หรือใครก็ตามแต่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวอาจเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นซ้อนๆ กันอยู่กับวิกฤติที่เกิดขึ้น โอกาสที่ว่านั้นคือ
1)ชาวนาสามารถใช้โอกาสจากวิกฤตของโครงการรับจำนำข้าวนี้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ให้กับตัวเองและหมู่เหล่าชาวนาด้วยกัน
2)ชาวนาได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนของโครงการรับจำนำข้าวว่าในอนาคตหรือในฤดูกาลทำนารอบถัดๆ ไป ชาวนาควรฝากความหวังไว้กับความไม่แน่นอนของกลไกตลาดผ่านการหาเสียงของนักการเมืองหรือไม่ ถ้ายังจำเป็นต้องฝาก ชาวนาอาจต้องหาแนวทางในการสร้างอำนาจต่อรอง สร้างมาตรการในการตรวจสอบ หรือมาตรการรองรับอื่นๆ เพื่อป้องการการทุจริตหรือเพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
3)ชาวนาสามารถหยิบฉวยโอกาสจากปรากฏการณ์ปัจจุบันนี้สร้างการอธิบาย ขยายแนวคิด เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกทุกลำดับขั้นของโครงการรับจำนำข้าวไปสู่สาธารณะให้มากที่สุด นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การรับใบประทวน โรงสี ตาชั่ง พ่อค้ารับซื้อข้าว และอื่นๆ จนกระทั่งถึงขั้นตอนของการรับเงินจากโครงการ เพราะสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังขาดรายละเอียดของข้อมูลเป็นจำนวนมาก
4)ชาวนาสามารถใช้โอกาสนี้วิเคราะห์ให้เห็นถึงการสร้างพลังการต่อรองระหว่างอำนาจชาวนากับอำนาจรัฐว่าก่อผลในด้านลบอย่างไร และมีผลในด้านบวกมากน้อยขนาดไหน
5)ชาวนาสามารถวางแผนเพื่อสร้างทางเลือกทางรอดให้กับตัวเองได้ในอนาคตโดยยกเอาประสบการณ์ของโครงการรับจำนำข้าวนี้เป็นบทเรียนเช่นเดียวกับชาวนาในหลายพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆของไทย หรือกระทั่งชาวนาภาคกลางเอง ผู้ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวนากลุ่มแรกที่ก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตข้าวด้วยเครื่องจักร ได้พยายามที่จะรวมกลุ่มเพื่อสร้างทางเลือกให้กับตนเอง พยายามที่จะหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารขับไล่แมลง ทำข้าวอินทรีย์ ทำเกษตรปลอดสาร ทำการตลาดเอง แม้ส่วนใหญ่แล้วยังถือว่าอยู่ในขั้นของการลองผิดลองถูกอีกทั้งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนปรับใช้เพื่อให้เกิดความสมดุลกับบริบทพื้นที่และวิถีชาวนาในแต่ละท้องถิ่นโดยเฉพาะการต่อสู้ทางคิดกับความเชื่อและมายาภาพทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ตัวเลขด้านราคาผลผลิตที่(ดูเหมือนจะ)สูงเป็นตัวล่อ แล้วใช้กลไกทางการตลาดเป็นตัวชักนำ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวนาอาจต้องเรียนรู้อย่างเป็นจริงและเหมาะสมที่สุด
6)เกษตรกรในสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวนาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถประยุกต์ไปใช้กับเกษตรสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมอย่างไร
ในท้ายที่สุด ผู้ที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทุกคนในสังคมไทย เราได้รับทราบข้อมูลและเรียนรู้อะไรบ้างจากปรากฏการณ์การลุกฮือขึ้นมาทวงถามสิทธิ์ของชาวนาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหรียญทั้ง 3 ด้านนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ หลังจากที่เราได้เรียนรู้แล้ว ตัวเราเองทำอะไรได้มากไปกว่าการรับทราบข้อมูลและเรียนรู้ปรากฏการณ์นี้ไหม... ???
โดย เมธี สิงห์สู่ถ้ำ /LocalAct
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.