วิกฤตภัยแล้งปี 2557 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ว่ากันว่าอาจจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 11,839 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48% ของความจุเขื่อนทั้งหมด (กรมชลประทาน 28 กุมภาพันธ์ 2557)
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการเรียกร้องให้ชาวนาลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ด้วยเหตุผลว่าต้องการเก็บน้ำไว้ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และเกรงว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำนาของชาวนา แต่ดูเหมือนว่าเหตุผลนี้ ใช้ไม่ได้เลยกับชาวนา เพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เคยลดลง แต่เพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่ที่รัฐวางแผนไว้เสมอ ดังปีการเพาะปลูก 2553/2554 รัฐวางแผนการปลูกข้าวนาปรัง6.7 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ชาวนาปลูกจริงอยู่ที่ 8.2 ล้านไร่ เพิ่มจากแผนที่วาง 122% ในขณะที่ปีการเพาะปลูก 2555/2556 ปีที่สองของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังสูงถึง 9.5 ล้านไร่ คิดเป็น 104 % เทียบกับแผนที่วางไว้
ในขณะที่ปีการเพาะปลูกปัจจุบัน เนื่องจากภาวะภัยแล้ง การวางแผนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังถูกลดลงมาเหลือที่ 4.7 ล้านไร่ แต่ข้อมูล ณ วันที่20 กุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังของชาวนาสูงไปแล้วถึง 8.7 ล้านไร่ สูงถึง 184 % เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ ชี้ให้เห็นว่า การวางแผนขอของกรมชลประทานไม่ได้ผล เพราะชาวนายังคงเดินหน้าปลูกข้าวนาปรังต่อไป
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการทำงานของหน่วยงานรัฐในบ้านเรา ยังเป็นไปแบบต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิดวางแผน แต่ไม่ได้มองเห็นปัญหาภาพรวมของชาวนา ให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการทำงานของหน่วยงานตนเอง
ชาวนาบ้านเราไม่มีทางเลือกอาชีพอื่นนอกจากการทำนา จริงอยู่ในระยะหลังรายได้นอกภาคเกษตรมีบทบาทสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อครอบครัวของชาวนา โดยเฉพาะลูกหลานชาวนาและชาวนารุ่นใหม่ แต่รายได้ของชาวนากว่า 3 ล้านครอบครัว ถือได้ว่ายังคงหมุนเวียนพึ่งพิงกับกิจกรรมการทำนา แม้ไม่มีกำไรเลยหรือได้กำไรเพียงเล็กน้อยก็ตาม การร้องขอให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวนาปรัง จึงเป็นคำร้องขอที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้าไปดูแล แก้ไขปัญหา จ่ายค่าชดเชย จากผลผลิตและรายได้ที่ชาวนาต้องสูญเสียไป หากว่าไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง
แก้วตา คชวงศ์ ชาวนารายหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง เช่านา 60 ไร่ จากเจ้าของนาชาวสมุทรสงคราม ต้องจ่ายค่าเช่านาคราวละ 50,000 บาท เธอเล่าให้ฟังว่า หากคราวไหนทางการ (กรมชลประทาน) แจ้งมาว่า น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยและประกาศไม่ให้มีการทำนาพอเธอแจ้งเจ้าของนาว่าจะไม่ได้ทำนา เจ้าของนาก็จะไม่สนใจ และทวงถามเงินค่าเช่านาจากเธอเหมือนเดิมค่าเช่านาที่ไม่เคยลดลง และเจ้าของนาที่ไม่เคยยกเว้นค่าเช่านาให้ แม้ไม่มีน้ำทำนา เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ที่ชาวนาเช่าเลิกทำนาปรังไม่ได้
หนี้สิน ดอกเบี้ย และค่าปรับจากแหล่งเงินกู้ในระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์ และเงินกู้นอกระบบ ซึ่งงอกเงยขึ้นทุกวัน เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ชาวนาเลิกปลูกข้าวนาปรังไม่ได้ ดังที่ชาวนาภาคกลางซึ่งเป็นภาคที่มีการปลูกข้าวนาปรัง มีหนี้สินเฉลี่ยสูงกว่าชาวนาภาคอื่นคือ 350,000 บาทต่อคนหนี้สินของชาวนาโดยส่วนใหญ่เหล่านี้ เป็นหนี้สินที่ถูกจัดอยู่ในประเภทผิดนัดชำระหนี้ ถูกดำเนินคดี ถูกบังคับคดี หนี้ NPA และล้มละลาย อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินมากถึง 52 % จากจำนวนหนี้สินทั้งหมด (30,252 ล้านบาทจาก 57,244 ล้านบาท: กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กันยายน 2555)
นี่คือภาวะกดดัน ที่ทำให้ชาวนาต้องทำนาปรังต่อไป แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้ง หรือไม่มีน้ำเพียงพอในการทำนาก็ตาม การช่วยเหลือชาวนาเพื่อให้อยู่รอดได้ในทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องคำนึงปัจจัยแวดล้อม ปัญหาของชาวนาในหลายด้านไปพร้อมกันโดยพิจารณาจากปัญหาที่มีอยู่จริง และเป็นปัญหาเร่งด่วน ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาไม่มีที่ดิน เทคโนโลยีการผลิตที่ใช้สารเคมีมาก ต้นทุนการทำนาสูง ขาดแคลนแหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์และอื่นๆ
ลำพังการตั้งเป้าหมายเพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบลูกโซ่ที่จะตามมากับชาวนา รวมทั้งไม่ได้มีการอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาจากผลผลิตและรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอย่างเพียงพอนี่จึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะทำให้เป้าหมายที่วางไว้ บรรลุผลได้
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
ขอบคุณข้อมลจาก: www.landactionthai.org, www.thaipublica.org
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.