การตอบรับต่อปัญหาของชาวนา โดยเฉพาะการบริจาคเงินของคนในเมืองและคนชั้นกลาง เพื่อช่วยเหลือเป็นค่าฟ้องร้องดำเนินคดี ค่าเดินทางและค่าอาหารให้กับกลุ่มชาวนา ที่เข้ามาเรียกร้องเงินจากโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นอยู่ ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาของชาวนาครั้งนี้ เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลกำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือเพราะปัญหาจำนำข้าวนี้เป็นประเด็นทุจริตคอรัปชั่นระดับชาติที่คนทั่วไปให้ความสนใจมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วก็ตาม
การเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวนาและเกษตรกร ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ทั้งประเด็นปัญหาที่ดิน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่กลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องราคาผลผลิต ยางพารา และปาล์มน้ำมันเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องจากชนบทเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนในเมืองแบบที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้ามการชุมนุมเรียกร้องของคนชนบท มักถูกมองว่าเป็นปัญหาของคนเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกีดขวางเส้นทางจราจรหรือการปิดกั้นถนน
วิกฤติความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับเงินจำนำข้าวของชาวนาทั่วประเทศครั้งนี้ จึงสร้างโอกาสให้คนในเมืองได้เรียนรู้ และเห็นใจในความเดือดร้อนของเกษตรกรและคนจนในชนบทมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง
ข่าวชาวนาเผชิญภาวะความเครียด ไร้ทางออก และบางรายตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย ดังกรณีที่พบแล้วในจังหวัดพิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และขอนแก่น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและทางตันของอาชีพชาวนาในสังคมบ้านเรา ที่ไม่ได้รับการเยียวยา แก้ไขมาเป็นเวลาเนิ่นนาน
อาชีพเกษตรกรรม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของบ้านเรามาอย่างยาวนาน หรือเรียกได้ว่ารับใช้ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมานาน แต่ชาวนาบ้านเรากลับไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อเทียบกับคนในภาคเศรษฐกิจอื่น เกษตรกรบ้านเรากว่า 24 ล้านคน กว่า18 ล้านคน แบกรับภาระหนี้สิน ธ.ก.ส. และหนี้นอกระบบ ที่มีโอกาสใช้คืนได้น้อย หลายรายได้ใช้หนี้คืนก็ตอนที่ลูกหลานเบิกเงินฌาปนกิจศพมาชำระหนี้หนี้สินของชาวนาและเกษตรกรทั่วประเทศ ถูกประมาณคร่าวๆ ว่าอยู่ที่เกือบ8แสนล้านบาท โดยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อราย 107,230 บาท (ปี 2554: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
น่าเสียดายที่รัฐบาลทุกยุคสมัย เห็นชาวนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของฐานเสียงและมวลชนเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง นโยบายเกษตรที่ออกมา แม้จะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็บรรเทาปัญหาให้แค่ชั่วคราว ในขณะที่ปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาทั่วประเทศ รัฐบาลกลับแกลังมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจะช่วยแก้ไขได้
กลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงเสมือนถูกทำแท้ง หรือเด็กพิการที่แม้จะเดินได้ แต่ก็เดินไปด้วยความยากลำบากเต็มที กว่า9 ปีของการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร มีเกษตรกรเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20,451 รายเท่านั้น ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด490,653 รายที่ขึ้นทะเบียนขอให้รัฐช่วยแก้ไขปัญหา (3 กันยายน 2555: สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร)
หนี้สินและดอกเบี้ยที่พอกพูน ภาวะไร้ทางออกให้กับครอบครัว กับอาการหมดหวังจากเงินจำนำข้าวที่จะได้จากรัฐบาล ล้วนเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมชาวนาที่เป็นอยู่ก็ได้แต่หวังว่า การแสดงเจตจำนงที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล หน่วยงานรัฐและเอกชนหลายส่วน รวมทั้งคนในเมืองที่ร่วมด้วยช่วยกันจะถูกสานต่อในระยะยาว เพื่อเกื้อหนุนให้ชาวนามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเทียบเท่ากับคนในภาคเศรษฐกิจอื่น และการช่วยเหลือครั้งนี้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง ที่จะดับลงเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายลง
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์
คอลัมน์ ขวัญของแผ่นดิน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.landactionthai.org,www.facebook.com/LocalAct
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.